เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [13.เตวิชชสูตร] เปรียบด้วยคนสร้างบันได

เห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้ ฯลฯ พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้
ว่า ‘พวกเราไม่รู้ พวกเราไม่เห็น แต่พวกเราแสดงทางเพื่อความเป็นผู้อยู่ร่วมกับ
พระพรหมว่า ทางนี้เท่านั้นเป็นทางตรง เป็นทางเดินตรงไป เป็นทางนำออก นำผู้
เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมได้’
[537] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร
เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทถือว่าเลื่อนลอยมิใช่หรือ”
เขาทูลตอบว่า “ท่านพระโคดม เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้
ไตรเพทถือว่าเลื่อนลอยแน่นอน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถูกละ วาเสฏฐะ การที่พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทซึ่งไม่รู้
ไม่เห็นพรหม แต่กลับแสดงทางเพื่อความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหมว่า ‘ทางนี้เท่านั้น
เป็นทางตรง เป็นทางเดินตรงไป เป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่
ร่วมกับพระพรหมได้’ นั่นมิใช่ฐานะที่เป็นไปได้”

เปรียบด้วยคนสร้างบันได

[538] วาเสฏฐะ เปรียบเหมือนบุรุษทำบันไดที่หนทางใหญ่สี่แพร่งเพื่อขึ้น
ปราสาท คนจะถามเขาว่า ‘พ่อคุณ เธอจะทำบันไดขึ้นปราสาท เธอรู้จักปราสาทนั้น
หรือว่า ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก ทิศใต้ ทิศตะวันตก หรือทิศเหนือ มีขนาดสูง ต่ำ
หรือปานกลาง’ เมื่อถูกถามอย่างนี้เขาจะตอบว่า ‘ยังไม่รู้จัก’ จะถูกถามต่อไปว่า
‘เธอจะทำบันไดขึ้นปราสาทที่ยังไม่เคยรู้จักทั้งไม่เคยเห็นอย่างนั้นหรือ’ เมื่อถูกถาม
อย่างนี้ เขาจะตอบว่า ‘ใช่’
[539] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร
เมื่อเป็นเช่นนี้ คำพูดของชายผู้นั้นถือว่าเลื่อนลอยมิใช่หรือ”
เขาทูลตอบว่า “ท่านพระโคดม เมื่อเป็นเช่นนี้ คำพูดของชายผู้นั้นถือว่า
เลื่อนลอยแน่นอน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :237 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [13.เตวิชชสูตร] เปรียบด้วยแม่น้ำอจิรวดี

[540] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อย่างนั้นเหมือนกัน วาเสฏฐะ ที่กล่าวมานี้
สรุปได้ว่า ไม่มีพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่เคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้ ไม่มี
อาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่เคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้ ไม่มี
ปาจารย์ของอาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่เคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้
ไม่มีอาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่เป็นอาจารย์สืบทอดกันมาเจ็ดชั่วคนซึ่งเคย
เห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้ พวกฤๅษีผู้เป็นบูรพาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้
ไตรเพท ได้แก่ ฤๅษีอัฏฐกะ ฤๅษีวามกะ ฤๅษีวามเทวะ ฤๅษีเวสสามิตร ฤๅษี
ยมตัคคิ ฤๅษีอังคีรส ฤๅษีภารัทวาชะ ฤๅษีวาเสฏฐะ ฤๅษีกัสสปะ และฤๅษีภคุ ซึ่ง
เป็นผู้ผูกมนตร์บอกมนตร์ที่พวกพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทในเวลานี้ขับตามกล่อมตาม
ซึ่งบทมนตร์เก่าที่ท่านขับไว้กล่อมไว้รวบรวมไว้ กล่าวได้ถูกต้องตามที่ท่านกล่าวไว้
บอกได้ถูกต้องตามที่ท่านบอกไว้ แม้ฤๅษีเหล่านั้นก็ไม่มีเลยที่กล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวก
เรารู้ พวกเราเห็นพรหมนั้นว่าอยู่ที่ใด โดยที่ใด หรืออยู่ภพใด’ พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพท
เหล่านั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกเราไม่รู้ พวกเราไม่เห็น แต่พวกเราแสดงทางเพื่อ
ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมว่า ทางนี้เท่านั้นเป็นทางตรง เป็นทางเดินตรงไป
เป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมได้’
[541] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร
เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทก็ถือว่าเลื่อนลอยมิใช่หรือ”
เขาทูลตอบว่า “ท่านพระโคดม เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้
ไตรเพทก็ถือว่าเลื่อนลอยแน่นอน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถูกละ วาเสฏฐะ การที่พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทซึ่งไม่รู้
ไม่เห็นพรหม แต่กลับแสดงทางเพื่อความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหมว่า ‘ทางนี้เท่านั้น
เป็นทางตรง เป็นทางเดินตรงไป เป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่
ร่วมกับพระพรหมได้’ นั่นมิใช่ฐานะที่เป็นไปได้

เปรียบด้วยแม่น้ำอจิรวดี

[542] วาเสฏฐะ เปรียบเหมือนแม่น้ำอจิรวดีมีน้ำเต็มเสมอฝั่ง นกกา(ก้ม)
ดื่มกินได้ ชายคนหนึ่งต้องการจะข้ามฝั่ง แสวงหาฝั่ง ไปถึงฝั่ง ประสงค์จะข้าม เขา
ยืนอยู่ที่ฝั่งนี้ตะโกนเรียกฝั่งโน้นว่า ‘ฝั่งโน้นจงเลื่อนมาฝั่งนี้ ๆ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :238 }