เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [1.พรหมชาลสูตร]
ทิฏฐิ 62 อันตานันติกวาทะ 4

ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมูลเหตุที่ 2 ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้วปรารภ
แล้ว จึงมีวาทะว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด บัญญัติว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด

มูลเหตุที่ 3

[56] 11. (3) อนึ่ง ในมูลเหตุที่ 3 สมณพราหมณ์ผู้เจริญอาศัยอะไร
ปรารภอะไรจึงมีวาทะว่าโลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด บัญญัติว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มี
ที่สุด ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้อาศัยความเพียรเครื่อง
เผากิเลส ความเพียรที่ตั้งมั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่ประมาท และอาศัยการ
ใช้ความคิดอย่างถูกวิธีแล้วบรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น จึงเข้าใจโลกว่า
ด้านบนด้านล่างมีที่สุด ด้านขวางไม่มีที่สุด
เขาจึงพูดอย่างนี้ว่า ‘โลกนี้ทั้งมีที่สุดและไม่มีที่สุด สมณพราหมณ์ที่กล่าวอย่าง
นี้ว่า โลกนี้มีที่สุด มีสัณฐานกลม เป็นผู้กล่าวเท็จ แม้สมณพราหมณ์ที่กล่าวอย่าง
นี้ว่า โลกนี้ไม่มีที่สุด หาที่สุดไม่ได้ ก็เป็นผู้กล่าวเท็จ (ที่จริงแล้ว) โลกนี้ทั้งมีที่สุด
และไม่มีที่สุด เพราะเหตุไร เพราะเราอาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส ความเพียรที่
ตั้งมั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่ประมาท และอาศัยการใช้ความคิดอย่างถูกวิธี
แล้วบรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น จึงเข้าใจโลกว่า ด้านบนด้านล่างมีที่สุด
ด้านขวางไม่มีที่สุด เพราะการบรรลุคุณวิเศษนี้ เราจึงรู้อาการที่โลกนี้ทั้งมีที่สุดและ
ไม่มีที่สุด’
ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมูลเหตุที่ 3 ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้วปรารภ
แล้ว จึงมีวาทะว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด บัญญัติว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด

มูลเหตุที่ 4

[57] 12. (4) อนึ่ง ในมูลเหตุที่ 4 สมณพราหมณ์ผู้เจริญอาศัยอะไรปรารภ
อะไร จึงมีวาทะว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด บัญญัติว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด
ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้เป็นนักตรรกะ เป็นนัก
อภิปรัชญา แสดงทรรศนะของตนตามหลักเหตุผลและการคาดคะเนความจริงอย่างนี้
ว่า ‘โลกนี้มีที่สุดก็มิใช่ ไม่มีที่สุดก็มิใช่ สมณพราหมณ์ที่กล่าวอย่างนี้ว่า โลกนี้มีที่สุด
มีสัณฐานกลม เป็นผู้กล่าวเท็จ แม้สมณพราหมณ์ที่กล่าวอย่างนี้ว่า โลกนี้ไม่มีที่สุด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :23 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [1.พรหมชาลสูตร]
ทิฏฐิ 62 อมราวิกเขปวาทะ 4

หาที่สุดไม่ได้ ก็เป็นผู้กล่าวเท็จ แม้สมณพราหมณ์ที่กล่าวอย่างนี้ว่า โลกนี้ทั้งมีที่สุด
และไม่มีที่สุด ก็เป็นผู้กล่าวเท็จ (ที่จริงแล้ว) โลกนี้มีที่สุดก็มิใช่ ไม่มีที่สุดก็มิใช่’
ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมูลเหตุที่ 4 ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้วปรารภ
แล้ว จึงมีวาทะว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด บัญญัติว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด

สรุปอันตานันติกวาทะ

[58] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่านั้นมีวาทะว่า โลกมีที่สุด โลก
ไม่มีที่สุด บัญญัติว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ด้วยมูลเหตุ 4 อย่างนี้แล ก็
สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุกจำพวก บัญญัติว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ด้วยมูลเหตุ
ทั้ง 4 อย่างนี้หรือด้วยมูลเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งใน 4 อย่างนี้ ไม่พ้นไปจากนี้
[59] ภิกษุทั้งหลาย เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัดว่า มูลเหตุแห่งทิฏฐิเหล่านี้ที่บุคคล
ยึดถืออย่างนี้แล้วย่อมมีคติและภพหน้าอย่างนั้น ๆ ตถาคตรู้มูลเหตุนั้นชัด และยังรู้
ชัดยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีกจึงไม่ยึดมั่น เมื่อไม่ยึดมั่นจึงรู้ความดับด้วยตนเอง รู้ความเกิด
ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดเวทนาออกตามความเป็นจริง ตถาคตจึง
หลุดพ้นเพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น
[60] ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้แล ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ
ประณีต ใช้เหตุผลคาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ซึ่งตถาคตรู้แจ้งได้
เองแล้วสั่งสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งตามอันเป็นเหตุให้คนกล่าวยกย่องตถาคตถูกต้องตาม
ความเป็นจริง

อมราวิกเขปวาทะ1 4
ความเห็นหลบเลี่ยง ไม่แน่นอน

[61] ภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะหลบเลี่ยงไม่แน่นอน
พอถูกถามปัญหาในประเด็นนั้น ๆ ย่อมกล่าวหลบเลี่ยงไม่แน่นอนด้วยมูลเหตุ 4
อย่าง ก็สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นอาศัยอะไรปรารภอะไรจึงมีวาทะหลบเลี่ยง

เชิงอรรถ :
1 ลัทธิที่มีความเห็นหลบเลี่ยงไม่แน่นอนว่าใช่หรือไม่ใช่ เป็นความเห็นที่ลื่นไหลจับได้ยากเหมือนปลาไหล
(ที.สี.อ. 61/106)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :24 }