เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [11.เกวัฏฏสูตร]
ปาฏิหารย์ 3 อย่าง 2.อาเทสนาปาฏิหารย์

คนเดียวแสดงเป็นหลายคนก็ได้ ฯลฯ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้
เพราะมีวิชานั้น’
เกวัฏฏะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร ผู้ที่ยังไม่มีศรัทธายังไม่เลื่อมใสจะพูด
กับผู้ที่มีศรัทธาเลื่อมใสอย่างนั้นหรือไม่”
เขากราบทูลว่า “ต้องพูดแน่ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เกวัฏฏะ เราเล็งเห็นโทษในอิทธิปาฏิหาริย์อย่างนี้
จึงเหนื่อยหน่าย ระอา รังเกียจเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์

2. อาเทสนาปาฏิหาริย์

[485] เกวัฏฏะ ก็อาเทสนาปาฏิหาริย์เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ทายจิต ทายเจตสิก ทายความวิตกวิจารของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นได้ว่า จิตของท่าน
เป็นอย่างนี้ เป็นไปโดยอาการอย่างนี้ เป็นดังนี้
เพราะเหตุนั้น ผู้ใดผู้หนึ่งที่มีศรัทธาเลื่อมใสเห็นภิกษุนั้นทายจิต ทายเจตสิก
ทายความวิตกวิจารของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นได้ว่า จิตของท่านเป็นอย่างนี้ เป็นไป
โดยอาการอย่างนี้ เป็นดังนี้ ผู้นั้นจะบอกแก่บุคคลผู้ที่ยังไม่มีศรัทธายังไม่เลื่อมใสว่า
‘น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ สมณะมีฤทธิ์มากมีอานุภาพมากเหลือเกิน ข้าพเจ้า
เพิ่งเคยเห็นท่านนี้ที่ทายจิต ทายเจตสิก ทายความวิตกวิจารของสัตว์อื่นของบุคคล
อื่นได้ว่า จิตของท่านเป็นอย่างนี้ เป็นไปโดยอาการอย่างนี้ เป็นดังนี้’
เมื่อเป็นเช่นนั้น ผู้ที่ยังไม่มีศรัทธายังไม่เลื่อมใสจะพูดกับผู้มีศรัทธาเลื่อมใสว่า
‘ท่าน มีวิชาประเภทหนึ่งเรียกว่ามณิกา1 ภิกษุรูปนั้นทายจิต ทายเจตสิก ทายความ
วิตกวิจารของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นได้ว่า จิตของท่านเป็นอย่างนี้ เป็นไปโดยอาการ
อย่างนี้ เป็นดังนี้ เพราะมีวิชานั้น’

เชิงอรรถ :
1 วิชามณิกา ได้แก่ วิชาจินดามณี ผู้รู้วิชาจินดามณี สามารถรู้ใจคนอื่นได้ (ที.สี.อ. 485/323)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :215 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [11.เกวัฏฏสูตร]
เรื่องภิกษุแสวงหาความดับของมหาภูตรูป

เกวัฏฏะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร ผู้ที่ยังไม่ศรัทธายังไม่เลื่อมใสจะพูดกับ
ผู้ที่มีศรัทธาเลื่อมใสอย่างนั้นหรือไม่”
เขากราบทูลว่า “ต้องพูดแน่ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เราเล็งเห็นโทษในอาเทสนาปาฏิหาริย์อย่างนี้ จึง
เหนื่อยหน่าย ระอา รังเกียจเรื่องอาเทสนาปาฏิหาริย์

3. อนุสาสนีปาฏิหาริย์

[486] เกวัฏฏะ ก็อนุสาสนีปาฏิหาริย์เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อมพร่ำสอนอย่างนี้ว่า ‘ท่านจงตรึกตรองอย่างนี้ อย่าตรึกตรองอย่างนั้น จงใส่ใจ
อย่างนี้ อย่าใส่ใจอย่างนั้น จงละสิ่งนี้จงเข้าถึงสิ่งนี้อยู่เถิด’ นี้จัดเป็นอนุสาสนี-
ปาฏิหาริย์อย่างหนึ่ง
ยังมีอีก เกวัฏฏะ ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเอง
โดยชอบ ฯลฯ1 (พึงนำข้อความเต็มในสามัญญผลสูตรมาใส่ไว้ในที่นี้) ภิกษุชื่อว่า
สมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอย่างนี้แล ฯลฯ บรรลุปฐมฌานอยู่ นี้จัดเป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์
อย่างหนึ่ง
ฯลฯ บรรลุทุติยฌานอยู่ บรรลุตติยฌานอยู่ บรรลุจตุตถฌานอยู่ ฯลฯ น้อม
จิตไปเพื่อญาณทัสสนะ ฯลฯ นี้จัดเป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์อย่างหนึ่ง ฯลฯ รู้ชัดว่า ...
ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป นี้จัดเป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์อย่างหนึ่ง
เกวัฏฏะ เราทำให้แจ้งปาฏิหาริย์ 3 อย่างนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วจึง
ประกาศให้รู้กัน

เรื่องภิกษุแสวงหาความดับของมหาภูตรูป

[487] เกวัฏฏะ เรื่องเคยมีมาแล้ว ภิกษุรูปหนึ่งในหมู่ภิกษุเกิดความคิดคำนึง
ว่า มหาภูตรูป 4 คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมดับสนิทที่
ไหนหนอ

เชิงอรรถ :
1 ความเต็มเหมือนในสามัญญผลสูตร ข้อ 194-212 และควรดูเทียบจนถึงข้อ 248

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :216 }