เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [10.สุภสูตร]
วิชชา 8 ประการ สุภมาณพประกาศตนเป็นอุบาสก

เปรียบเหมือนสระน้ำใสสะอาดไม่ขุ่นมัวบนยอดภูเขา คนตาดียืนที่ขอบสระนั้น
เห็นหอยโข่งและหอยกาบ ก้อนกรวดและก้อนหินหรือฝูงปลากำลังแหวกว่ายอยู่บ้าง
หยุดอยู่บ้าง ในสระนั้น ก็คิดอย่างนี้ว่า ‘สระน้ำนี้ใสสะอาดไม่ขุ่นมัว หอยโข่งและหอย
กาบ ก้อนกรวดและก้อนหิน และฝูงปลาเหล่านี้กำลังแหวกว่ายอยู่ก็มี หยุดอยู่ก็มี
ในสระนั้น’ ฉันใด เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุน้อมจิต
ไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ
นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธ-
คามินีปฏิปทา’ เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ
และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบ
พรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’
ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นปัญญาอย่างหนึ่งของภิกษุ

สุภมาณพประกาศตนเป็นอุบาสก

[480] มาณพ อริยปัญญาขันธ์ที่พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญและทรงให้
ประชาชนสมาทานตั้งมั่นอยู่เป็นอย่างนี้ ในพระธรรมวินัยนี้ ไม่มีกรณียกิจที่ต้อง
ปฏิบัติยิ่งขึ้นไปกว่าขั้นอริยปัญญาขันธ์นี้อีกแล้ว”
เขากล่าวว่า “น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ อริยปัญญาขันธ์บริบูรณ์แล้ว ไม่
ใช่ไม่บริบูรณ์ ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นอริยปัญญาขันธ์ที่บริบูรณ์อย่างนี้ในสมณพราหมณ์
เหล่าอื่นนอกพระศาสนานี้เลย ไม่มีกรณียกิจที่ต้องปฏิบัติยิ่งขึ้นไปกว่าขั้นอริยปัญญา
ขันธ์นี้อีกแล้ว ท่านอานนท์ ภาษิตของท่านอานนท์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านอานนท์
ภาษิตของท่านอานนท์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านอานนท์ประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดย
ประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้
หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดโดยตั้งใจว่า คนมีตาดีจักเห็นรูปได้ ข้าพเจ้านี้ขอถึง
ท่านพระโคดม พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านอานนท์โปรดจำ
ข้าพเจ้าว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”

สุภสูตรที่ 10 จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [11.เกวัฏฏสูตร] เรื่องบุตรคหบดีชื่อเกวัฏฏะ

11. เกวัฏฏสูตร
ว่าด้วยบุตรคหบดีชื่อเกวัฏฏะ

เรื่องบุตรคหบดีชื่อเกวัฏฏะ

[481] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ สวนมะม่วงของปาวาริกเศรษฐี เขต
เมืองนาลันทา ครั้งนั้นบุตรคหบดีชื่อเกวัฏฏะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
กราบพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
เมืองนาลันทามั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ มีประชากรมาก มีพลเมืองหนาแน่นที่ล้วนเลื่อมใส
ในพระผู้มีพระภาค ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาสเถิด ขอพระผู้มี
พระภาคโปรดมีพระบัญชาให้ภิกษุสักรูปหนึ่งที่พอจะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์โดย
อุตตริมนุสสธรรม1 ได้ ซึ่งจะทำให้ชาวเมืองนาลันทาพากันเลื่อมใสในพระผู้มีพระ
ภาคมากขึ้นสุดจะประมาณ”
เมื่อเขากราบทูลอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เกวัฏฏะ เราไม่ได้แสดง
ธรรมแก่ภิกษุอย่างนี้ว่า มาเถิด พวกเธอจงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ด้วยอุตตริมนุสส-
ธรรมแก่คฤหัสถ์ผู้นุ่งห่มผ้าขาว”
[482] แม้ครั้งที่ 2 บุตรคหบดีชื่อเกวัฏฏะก็กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ข้าพระองค์ไม่ได้คาดคั้นพระผู้มีพระภาคเลย แต่ข้าพระองค์ขอกราบทูลอย่างนี้ว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมืองนาลันทามั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ มีประชากรมาก มีพลเมือง
หนาแน่นที่ล้วนเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาค ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส
เถิด ขอพระผู้มีพระภาคโปรดมีพระบัญญัติให้ภิกษุสักรูปหนึ่งที่พอจะแสดง
อิทธิปาฏิหาริย์โดยอุตตริมนุสสธรรมได้ ซึ่งจะทำให้ชาวเมืองนาลันทาพากันเลื่อมใส
ในพระผู้มีพระภาคมากขึ้นสุดจะประมาณ”

เชิงอรรถ :
1 อุตตริมนุสสธรรม คือธรรมยวดยิ่งของมนุษย์, ธรรมของมนุษย์ผู้ยอดยิ่ง ได้แก่ ฌาน วิโมกข์ สมาธิ
สมาบัติ ญาณทัสสนะ มรรคภาวนา การทำผลให้แจ้ง การละกิเลส ความที่จิตปลอดจากนิวรณ์ ความ
ยินดีในเรือนว่าง (วิ.มหา. 1/198/127)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :213 }