เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [10.สุภสูตร]
วิชชา 8 ประการ 1.วิปัสสนาญาณ

[471] มาณพ สมาธิขันธ์ที่พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญและทรงให้
ประชาชนสมาทานตั้งมั่นอยู่เป็นอย่างนี้ แต่ในพระธรรมวินัยนี้ยังมีกรณียกิจที่ต้อง
ปฏิบัติยิ่งขึ้นไปกว่าขั้นอริยสมาธินี้อีก”
เขากล่าวว่า “น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ อริยสมาธิขันธ์บริบูรณ์แล้ว ไม่ใช่
ไม่บริบูรณ์ ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นอริยสมาธิขันธ์ที่บริบูรณ์อย่างนี้ในสมณพราหมณ์
เหล่าอื่นนอกพระศาสนานี้เลย สมณพราหมณ์เหล่าอื่นนอกพระศาสนานี้ เห็น
อริยสมาธิขันธ์ที่บริบูรณ์อย่างนี้ในตน ก็จะพอใจว่า ‘เพียงแค่นี้พอแล้ว เพียงแค่นี้
สำเร็จแล้ว เราได้บรรลุสามัญคุณแล้ว ไม่มีกรณียกิจที่ต้องปฏิบัติยิ่งขึ้นไปกว่าขั้นนี้
อีก’ แต่ท่านยังบอกว่า ‘ในพระธรรมวินัยนี้ยังมีกรณียกิจที่ต้องปฏิบัติยิ่งขึ้นไปกว่าขั้น
อริยสมาธิขันธ์นี้อีก’

ปัญญาขันธ์

[472] อริยปัญญาขันธ์ ที่ท่านพระโคดมตรัสสรรเสริญและทรงให้ประชาชน
สมาทานตั้งมั่นอยู่เป็นอย่างไร ท่านอานนท์”

วิชชา 8 ประการ
1. วิปัสสนาญาณ

ท่านพระอานนท์ตอบว่า “เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดัง
เนิน1 ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว
อย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ2 รู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘กายของเรานี้คุมกัน
เป็นรูปร่าง ประกอบขึ้นจากมหาภูตรูป 4 เกิดจากบิดามารดา เจริญวัยเพราะข้าว
สุกและขนมสด ไม่เที่ยงแท้ ต้องอบ ต้องนวดเฟ้น มีอันแตกกระจัดกระจายไปเป็น
ธรรมดา วิญญาณของเราอาศัยและเนื่องอยู่ในกายนี้’

เชิงอรรถ :
1 กิเลสมีราคะเป็นต้น ท่านเรียกว่า กิเลสเพียงดังเนิน (อังคณะ) เพราะยังจิตให้ลาดต่ำ โน้มเอียงไปสู่ที่ต่ำ
เช่น ต้องย้อนกลับไปสู่จตุตถฌานอีก เป็นต้น
2 ความรู้และความเห็นตรงตามความเป็นจริง อาจเรียกว่า มรรคญาณ ผลญาณ สัพพัญญุตญาณ
ปัจจเวกขณญาณ หรือวิปัสสนาญาณก็ได้ (ที.สี.อ. 234/198)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :205 }