เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [10.สุภสูตร] จตุตถฌาน

น้ำเย็นพุขึ้นจากห้วงน้ำนั้นแล้วทำห้วงน้ำนั้นให้ชุ่มชื่นเอิบอาบเนืองนองไปด้วยน้ำเย็น
ไม่มีส่วนไหนของห้วงน้ำนั้นที่น้ำเย็นจะไม่ถูกต้อง ฉันใด ภิกษุทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบ
อิ่มด้วยปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิ รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ปีติ
และสุขอันเกิดจากสมาธิจะไม่ถูกต้อง ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นสมาธิอย่างหนึ่งของภิกษุ

ตติยฌาน

[469] ยังมีอีก มาณพ เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มีสติ-
สัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า
ผู้มีอุเบกขามีสติ อยู่เป็นสุข เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มด้วยสุขอันไม่มีปีติ รู้สึก
ซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่สุขอันไม่มีปีติจะไม่ถูกต้อง
เปรียบเหมือนในกอบัวเขียว(อุบล) กอบัวหลวง(ปทุม)หรือกอบัวขาว(บุณฑริก)
ดอกบัวเขียว ดอกบัวหลวงหรือดอกบัวขาวบางเหล่าที่เกิดเจริญเติบโตในน้ำ ยังไม่
พ้นน้ำ จมอยู่ใต้น้ำ มีน้ำหล่อเลี้ยงไว้ ดอกบัวเหล่านั้นชุ่มชื่นเอิบอาบซาบซึมด้วยน้ำ
เย็นตั้งแต่ยอดถึงเหง้า ไม่มีส่วนไหนที่น้ำเย็นจะไม่ถูกต้อง ฉันใด ภิกษุทำกายนี้ให้ชุ่ม
ชื่นเอิบอิ่มด้วยสุขอันไม่มีปีติ รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่สุขอันไม่มี
ปีติจะไม่ถูกต้อง ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นสมาธิอย่างหนึ่งของภิกษุ

จตุตถฌาน

[470] ยังมีอีก มาณพ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัส
ดับไปก่อน ภิกษุบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่
เธอมีใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่องนั่งแผ่ไปทั่วกายนี้ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ใจอันบริสุทธิ์
ผุดผ่องจะไม่ถูกต้อง
เปรียบเหมือนคนนั่งใช้ผ้าขาวคลุมตัวตลอดศีรษะ ไม่มีส่วนไหนของร่างกาย
ที่ผ้าขาวจะไม่ปกคลุม ฉันใด ภิกษุมีใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง นั่งแผ่ไปทั่วกายนี้ ไม่มี
ส่วนไหนของร่างกายที่ใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่องจะไม่ถูกต้อง ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นสมาธิ
อย่างหนึ่งของภิกษุ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :204 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [10.สุภสูตร]
วิชชา 8 ประการ 1.วิปัสสนาญาณ

[471] มาณพ สมาธิขันธ์ที่พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญและทรงให้
ประชาชนสมาทานตั้งมั่นอยู่เป็นอย่างนี้ แต่ในพระธรรมวินัยนี้ยังมีกรณียกิจที่ต้อง
ปฏิบัติยิ่งขึ้นไปกว่าขั้นอริยสมาธินี้อีก”
เขากล่าวว่า “น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ อริยสมาธิขันธ์บริบูรณ์แล้ว ไม่ใช่
ไม่บริบูรณ์ ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นอริยสมาธิขันธ์ที่บริบูรณ์อย่างนี้ในสมณพราหมณ์
เหล่าอื่นนอกพระศาสนานี้เลย สมณพราหมณ์เหล่าอื่นนอกพระศาสนานี้ เห็น
อริยสมาธิขันธ์ที่บริบูรณ์อย่างนี้ในตน ก็จะพอใจว่า ‘เพียงแค่นี้พอแล้ว เพียงแค่นี้
สำเร็จแล้ว เราได้บรรลุสามัญคุณแล้ว ไม่มีกรณียกิจที่ต้องปฏิบัติยิ่งขึ้นไปกว่าขั้นนี้
อีก’ แต่ท่านยังบอกว่า ‘ในพระธรรมวินัยนี้ยังมีกรณียกิจที่ต้องปฏิบัติยิ่งขึ้นไปกว่าขั้น
อริยสมาธิขันธ์นี้อีก’

ปัญญาขันธ์

[472] อริยปัญญาขันธ์ ที่ท่านพระโคดมตรัสสรรเสริญและทรงให้ประชาชน
สมาทานตั้งมั่นอยู่เป็นอย่างไร ท่านอานนท์”

วิชชา 8 ประการ
1. วิปัสสนาญาณ

ท่านพระอานนท์ตอบว่า “เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดัง
เนิน1 ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว
อย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ2 รู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘กายของเรานี้คุมกัน
เป็นรูปร่าง ประกอบขึ้นจากมหาภูตรูป 4 เกิดจากบิดามารดา เจริญวัยเพราะข้าว
สุกและขนมสด ไม่เที่ยงแท้ ต้องอบ ต้องนวดเฟ้น มีอันแตกกระจัดกระจายไปเป็น
ธรรมดา วิญญาณของเราอาศัยและเนื่องอยู่ในกายนี้’

เชิงอรรถ :
1 กิเลสมีราคะเป็นต้น ท่านเรียกว่า กิเลสเพียงดังเนิน (อังคณะ) เพราะยังจิตให้ลาดต่ำ โน้มเอียงไปสู่ที่ต่ำ
เช่น ต้องย้อนกลับไปสู่จตุตถฌานอีก เป็นต้น
2 ความรู้และความเห็นตรงตามความเป็นจริง อาจเรียกว่า มรรคญาณ ผลญาณ สัพพัญญุตญาณ
ปัจจเวกขณญาณ หรือวิปัสสนาญาณก็ได้ (ที.สี.อ. 234/198)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :205 }