เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [10.สุภสูตร] ทุติยฌาน

[465] มาณพ ภิกษุพิจารณาเห็นนิวรณ์ 5 ที่ตนละได้แล้ว เหมือนความ
ไม่มีหนี้ ความไม่มีโรค การพ้นโทษจากเรือนจำ ความเป็นไทแก่ตัวเอง และภูมิสถาน
อันสงบร่มเย็น
[466] เมื่อภิกษุนั้นพิจารณาเห็นนิวรณ์ 5 ที่ตนละได้แล้ว ย่อมเกิดความ
เบิกบานใจ เมื่อเบิกบานใจก็ย่อมเกิดปีติ เมื่อใจมีปีติ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบ
ย่อมได้รับความสุข เมื่อมีความสุข จิตย่อมตั้งมั่น

ปฐมฌาน

[467] ภิกษุนั้น สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌาน
ที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มด้วยปีติ
และสุขอันเกิดจากวิเวก รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ปีติและสุขอัน
เกิดจากวิเวกจะไม่ถูกต้อง
เปรียบเหมือนพนักงานสรงสนานหรือลูกมือพนักงานสรงสนาน ผู้ชำนาญ
เทผงถูตัวลงในภาชนะสัมฤทธิ์แล้วเอาน้ำประพรมให้ติดเป็นก้อน พอตกเย็น ก้อนถู
ตัวที่ยางซึมไปจับก็ติดกันหมด ไม่กระจายออก ฉันใด ภิกษุทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่ม
ด้วยปีติและสุขอันเกิดจากวิเวก รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ปีติและ
สุขอันเกิดจากวิเวกจะไม่ถูกต้อง ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นสมาธิอย่างหนึ่งของภิกษุ

ทุติยฌาน

[468] ยังมีอีก มาณพ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌานมี
ความผ่องใสในภายในมีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและ
สุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มด้วยปีติและสุขอันเกิดจาก
สมาธิ รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิจะไม่
ถูกต้อง
เปรียบเหมือนห้วงน้ำลึกเป็นวังวน ไม่มีทางที่กระแสน้ำจะไหลเข้าได้ ทั้งด้าน
ตะวันออก ด้านใต้ ด้านตะวันตก และด้านเหนือ ฝนก็ไม่ตกตามฤดูกาล แต่กระแส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :203 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [10.สุภสูตร] จตุตถฌาน

น้ำเย็นพุขึ้นจากห้วงน้ำนั้นแล้วทำห้วงน้ำนั้นให้ชุ่มชื่นเอิบอาบเนืองนองไปด้วยน้ำเย็น
ไม่มีส่วนไหนของห้วงน้ำนั้นที่น้ำเย็นจะไม่ถูกต้อง ฉันใด ภิกษุทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบ
อิ่มด้วยปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิ รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ปีติ
และสุขอันเกิดจากสมาธิจะไม่ถูกต้อง ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นสมาธิอย่างหนึ่งของภิกษุ

ตติยฌาน

[469] ยังมีอีก มาณพ เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มีสติ-
สัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า
ผู้มีอุเบกขามีสติ อยู่เป็นสุข เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มด้วยสุขอันไม่มีปีติ รู้สึก
ซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่สุขอันไม่มีปีติจะไม่ถูกต้อง
เปรียบเหมือนในกอบัวเขียว(อุบล) กอบัวหลวง(ปทุม)หรือกอบัวขาว(บุณฑริก)
ดอกบัวเขียว ดอกบัวหลวงหรือดอกบัวขาวบางเหล่าที่เกิดเจริญเติบโตในน้ำ ยังไม่
พ้นน้ำ จมอยู่ใต้น้ำ มีน้ำหล่อเลี้ยงไว้ ดอกบัวเหล่านั้นชุ่มชื่นเอิบอาบซาบซึมด้วยน้ำ
เย็นตั้งแต่ยอดถึงเหง้า ไม่มีส่วนไหนที่น้ำเย็นจะไม่ถูกต้อง ฉันใด ภิกษุทำกายนี้ให้ชุ่ม
ชื่นเอิบอิ่มด้วยสุขอันไม่มีปีติ รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่สุขอันไม่มี
ปีติจะไม่ถูกต้อง ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นสมาธิอย่างหนึ่งของภิกษุ

จตุตถฌาน

[470] ยังมีอีก มาณพ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัส
ดับไปก่อน ภิกษุบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่
เธอมีใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่องนั่งแผ่ไปทั่วกายนี้ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ใจอันบริสุทธิ์
ผุดผ่องจะไม่ถูกต้อง
เปรียบเหมือนคนนั่งใช้ผ้าขาวคลุมตัวตลอดศีรษะ ไม่มีส่วนไหนของร่างกาย
ที่ผ้าขาวจะไม่ปกคลุม ฉันใด ภิกษุมีใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง นั่งแผ่ไปทั่วกายนี้ ไม่มี
ส่วนไหนของร่างกายที่ใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่องจะไม่ถูกต้อง ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นสมาธิ
อย่างหนึ่งของภิกษุ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :204 }