เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [10.สุภสูตร] สมาธิขันธ์

อย่างนี้ ย่อมเสวยสุขอันไม่มีโทษในภายใน มาณพ ภิกษุชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยศีลเป็น
อย่างนี้แล
[453] มาณพ อริยสีลขันธ์ที่พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญและทรงให้
ประชาชนสมาทานตั้งมั่นอยู่เป็นอย่างนี้ แต่ในพระธรรมวินัยนี้ยังมีกรณียกิจที่ต้อง
ปฏิบัติยิ่งขึ้นไปกว่าขั้นอริยสีลขันธ์นี้อีก”
เขากล่าวว่า “น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ อริยสีลขันธ์บริบูรณ์แล้ว ไม่ใช่ไม่
บริบูรณ์ ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นอริยสีลขันธ์ที่บริบูรณ์อย่างนี้ ในสมณพราหมณ์เหล่าอื่น
นอกพระศาสนานี้เลย สมณพราหมณ์เหล่าอื่นนอกพระศาสนานี้ เห็นอริยสีลขันธ์ที่
บริบูรณ์อย่างนี้ในตน ก็จะพอใจว่า ‘เพียงแค่นี้พอแล้ว เพียงแค่นี้สำเร็จแล้ว เราได้
บรรลุสามัญคุณแล้ว ไม่มีกรณียกิจที่ต้องปฏิบัติยิ่งขึ้นไปกว่าขั้นนี้อีก’ แต่ท่านยังบอก
ว่า ‘ในพระธรรมวินัยนี้ยังมีกรณียกิจที่ต้องปฏิบัติยิ่งขึ้นไปกว่าขั้นอริยสีลขันธ์นี้อีก’

สมาธิขันธ์

[454] อริยสมาธิขันธ์ที่ท่านพระโคดมตรัสสรรเสริญและทรงให้ประชาชน
สมาทานตั้งมั่นอยู่เป็นอย่างไร ท่านอานนท์”
ท่านพระอานนท์ตอบว่า “มาณพ ภิกษุชื่อว่าคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เห็นรูปด้วยตาแล้วไม่รวบถือ ไม่แยกถือ
ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมในจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาป
อกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมใน
จักขุนทรีย์ ฟังเสียงด้วยหู ฯลฯ ดมกลิ่นด้วยจมูก ฯลฯ ลิ้มรสด้วยลิ้น ฯลฯ ถูกต้อง
โผฏฐัพพะด้วยกาย ฯลฯ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้วไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติ
เพื่อสำรวมในมนินทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคือ
อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุ
ผู้ประกอบด้วยความสำรวมอินทรีย์อันเป็นอริยะนี้ ย่อมเสวยสุขที่ไม่ระคนกับกิเลส
ในภายใน มาณพ ภิกษุชื่อว่าคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายเป็นอย่างนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :200 }