เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [1.พรหมชาลสูตร]
ทิฏฐิ 62 อันตานันติกวาทะ 4

เพียรเครื่องเผากิเลส ความเพียรที่ตั้งมั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่ประมาท
และอาศัยการใช้ความคิดอย่างถูกวิธีแล้วบรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น
ระลึกถึงชาติก่อนนั้นได้ ถัดจากนั้นไประลึกไม่ได้
เขาจึงพูดอย่างนี้ว่า ‘พวกเทวดาผู้เจริญ ผู้ไม่ใช่เหล่ามโนปโทสิกะ ย่อมไม่มัว
จ้องจับผิดกันและกันเกินควร เมื่อไม่มัวจ้องจับผิดกันและกันเกินควรก็ไม่คิดมุ่งร้าย
ต่อกัน เมื่อไม่คิดมุ่งร้ายต่อกันก็ไม่เหนื่อยกายเหนื่อยใจจึงไม่จุติจากชั้นนั้น เป็นผู้
เที่ยงแท้ ยั่งยืน คงทน ไม่ผันแปร จักดำรงอยู่เที่ยงแท้ไปเช่นนั้นทีเดียว ส่วนพวก
เราเหล่ามโนปโทสิกะมัวจ้องจับผิดกันและกันเกินควร เมื่อมัวจ้องจับผิดกันและกัน
เกินควรจึงคิดมุ่งร้ายต่อกัน เมื่อคิดมุ่งร้ายต่อกัน จึงเหนื่อยกายเหนื่อยใจ พากันจุติ
จากชั้นนั้น เป็นผู้ไม่เที่ยงแท้ ไม่ยั่งยืน ไม่คงทน อายุสั้น ต้องจุติมาเป็นอย่างนี้’
ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมูลเหตุที่ 3 ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้วปรารภ
แล้ว จึงมีวาทะว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า บาง
อย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง

มูลเหตุที่ 4

[49] 8. (4) อนึ่ง ในมูลเหตุที่ 4 สมณพราหมณ์ผู้เจริญอาศัยอะไร
ปรารภอะไร จึงมีวาทะว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า
บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์บางคนในโลกนี้เป็น
นักตรรกะ เป็นนักอภิปรัชญา แสดงทรรศนะของตนตามหลักเหตุผลและการคาด
คะเนความจริงอย่างนี้ว่า ‘สิ่งที่เรียกว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้เรียกว่าอัตตา
เป็นของไม่เที่ยงแท้ ไม่ยั่งยืน ไม่คงทน ต้องผันแปร ส่วนสิ่งที่เรียกว่าจิต ใจ วิญญาณ
นี้เรียกว่าอัตตา เป็นของเที่ยงแท้ ยั่งยืน คงทน ไม่ผันแปร จักดำรงอยู่เที่ยงแท้ไป
เช่นนั้นทีเดียว’
ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมูลเหตุที่ 4 ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้วปรารภ
แล้ว จึงมีวาทะว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า บาง
อย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :20 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [1.พรหมชาลสูตร]
ทิฏฐิ 62 อันตานันติกวาทะ 4

สรุปเอกัจจสัสสตวาทะ

[50] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่านั้นมีวาทะว่า บางอย่างเที่ยง บาง
อย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ด้วยมูลเหตุ
4 อย่างนี้แล ก็สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุกจำพวกมีวาทะว่า บางอย่างเที่ยง บาง
อย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ด้วยมูลเหตุ
ทั้ง 4 อย่างนี้ หรือด้วยมูลเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งใน 4 อย่างนี้ ไม่พ้นไปจากนี้
[51] ภิกษุทั้งหลาย เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัดว่า มูลเหตุแห่งทิฏฐิเหล่านี้ที่บุคคล
ยึดถืออย่างนี้แล้วย่อมมีคติและภพหน้าอย่างนั้น ๆ ตถาคตรู้มูลเหตุนั้นชัดและยังรู้
ชัดยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีกจึงไม่ยึดมั่น เมื่อไม่ยึดมั่นจึงรู้ความดับด้วยตนเอง รู้ความเกิด
ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดเวทนาออกตามความเป็นจริง ตถาคตจึง
หลุดพ้นเพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น
[52] ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้แล ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ
ประณีต ใช้เหตุผลคาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ซึ่งตถาคตรู้แจ้งได้
เองแล้วสั่งสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งตามอันเป็นเหตุให้คนกล่าวยกย่องตถาคตถูกต้องตาม
ความเป็นจริง

อันตานันติกวาทะ 4
เห็นว่าโลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด1

[53] ภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะว่า โลกมีที่สุด โลก
ไม่มีที่สุด บัญญัติว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ด้วยมูลเหตุ 4 อย่าง ก็
สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นอาศัยอะไรปรารภอะไร จึงมีวาทะว่า โลกมีที่สุด โลก
ไม่มีที่สุด บัญญัติว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ด้วยมูลเหตุ 4 อย่าง

เชิงอรรถ :
1 คำว่า ที่สุด ในที่นี้หมายถึงขอบเขตของโลก ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง และตามขวาง ซึ่งเป็นข้อที่ยกขึ้นโต้แย้งกัน
ว่า โลกมีขอบเขตกำจัด หรือไม่มีขอบเขตจำกัด (ที.สี.อ. 54/106)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :21 }