เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [1.พรหมชาลสูตร]
วิธีปฏิบัติเมื่อมีคนติเตียนหรือยกย่องพระรัตนตรัย

[3] ครั้นเวลาใกล้รุ่ง ภิกษุหลายรูปลุกขึ้นนั่งสนทนากันในหอนั่ง1 ว่า “ท่าน
ผู้มีอายุ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็นเป็นพระ
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงทราบว่าสัตว์มีอัธยาศัยต่างกัน ดังที่
สุปปิยปริพาชกผู้นี้กล่าวติเตียนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์หลายอย่าง ส่วน
พรหมทัตมาณพผู้เป็นศิษย์ของเขากลับกล่าวยกย่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
หลายอย่าง อาจารย์กับศิษย์มีถ้อยคำขัดแย้งในลักษณะตรงกันข้ามขณะเดินตามหลัง
พระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ไป”
[4] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบคำสนทนาของภิกษุเหล่านั้น จึง
เสด็จไปที่หอนั่ง ประทับนั่งบนพระพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้วตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เวลานี้พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร พูดเรื่องอะไรค้างไว้”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ภิกษุเหล่านั้นจึงกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ เมื่อพวกข้าพระพุทธเจ้าลุกขึ้นเวลาใกล้รุ่งได้สนทนากันในหอนั่งว่า ‘ท่าน
ผู้มีอายุ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็นเป็นพระ
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงทราบว่าสัตว์มีอัธยาศัยต่างกัน ดังที่
สุปปิยปริพาชกผู้นี้กล่าวติเตียนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์หลายอย่าง ส่วน
พรหมทัตมาณพผู้เป็นศิษย์ของเขากลับกล่าวยกย่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
หลายอย่าง อาจารย์กับศิษย์มีถ้อยคำขัดแย้งในลักษณะตรงกันข้ามขณะเดินตามหลัง
พระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ไป’ เรื่องนี้แลที่พวกข้าพระพุทธเจ้าพูดค้างไว้ ก็พอดี
พระผู้มีพระภาคเสด็จมาถึง พระพุทธเจ้าข้า”

วิธีปฏิบัติเมื่อมีคนติเตียนหรือยกย่องพระรัตนตรัย

[5] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถึงคนพวกอื่นจะพึงกล่าวติเตียน
เรา กล่าวติเตียนพระธรรมหรือกล่าวติเตียนพระสงฆ์ก็ตาม พวกเธอไม่ควรผูก
อาฆาตแค้นเคืองขุ่นใจคนพวกนั้น ถ้าพวกเธอโกรธเคืองหรือไม่พอใจพวกเขา พวก
เธอก็จะประสบอันตราย2 เพราะความโกรธเคืองนั้นได้ อนึ่ง พวกเธอจะรู้ได้หรือว่าที่
พวกเขาพูดนั้นถูกหรือผิด”

เชิงอรรถ :
1 อาคารทรงกลม ใช้เป็นที่พักร้อน โดยปกติจะมีสระน้ำและสวนดอกไม้ล้อมรอบ (ที.สี.อ. 3/43)
2 อันตรายในที่นี้หมายถึง อุปสรรคต่อการบรรลุธรรมชั้นสูง (ที.สี.อ. 6/53)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :2 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [1.พรหมชาลสูตร] จูฬศีล

พวกภิกษุกราบทูลว่า “รู้ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คำติเตียนนั้น ถ้าเป็นเรื่องไม่จริง พวกเธอควรชี้แจงให้
เห็นชัดว่า ‘เรื่องนี้เป็นเรื่องไม่จริง ไม่ถูกต้อง ไม่มี และไม่ปรากฏในพวกเรา’
[6] ภิกษุทั้งหลาย ถึงคนพวกอื่นจะพึงกล่าวยกย่องเรา กล่าวยกย่องพระธรรม
หรือกล่าวยกย่องพระสงฆ์ก็ตาม พวกเธอไม่ควรทำความรื่นเริงดีใจหรือกระหยิ่มใจ
ต่อคนพวกนั้น ถ้าพวกเธอทำความรื่นเริงดีใจหรือกระหยิ่มใจต่อพวกเขา พวกเธอ
ก็จะประสบอันตรายเพราะความรื่นเริงดีใจนั้นได้เช่นกัน คำยกย่องนั้น ถ้าเป็นเรื่อง
จริง พวกเธอควรยืนยันให้เขารู้ชัดลงไปว่า ‘เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง ถูกต้อง มีอยู่
และปรากฏในพวกเรา’

จูฬศีล

[7] ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชน1 เมื่อกล่าวยกย่องตถาคต ก็พึงกล่าวด้วยเรื่อง
เล็กน้อย ต่ำต้อยเพียงเรื่องระดับศีลเท่านั้น คือ
[8] ปุถุชนเมื่อกล่าวยกย่องตถาคต ก็จะพึงกล่าวว่า
1. พระสมณโคดมทรงละทรงเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑาวุธและ
ศัสตราวุธ มีความละอาย มีความเอ็นดู มุ่งหวังประโยชน์เกื้อกูลต่อ
สรรพสัตว์อยู่
2. พระสมณโคดมทรงละทรงเว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขา
ไม่ได้ให้ รับเอาแต่ของที่เขาให้ มุ่งหวังแต่ของที่เขาให้ ไม่ทรงเป็นขโมย
เป็นคนสะอาดอยู่
3. พระสมณโคดมทรงละพฤติกรรมอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ ประพฤติ
พรหมจรรย์2 เว้นห่างไกลจากเมถุนธรรม3 อันเป็นกิจของชาวบ้าน

เชิงอรรถ :
1 คนที่ยังมีกิเลสหนา ที่เรียกเช่นนี้ เพราะบุคคลประเภทนี้ยังมีเหตุก่อให้เกิดกิเลสอย่างหนานานัปการ
ปุถุชนมี 2 ประเภท คือ อันธปุถุชน คนที่ไม่ได้รับการศึกษาอบรมทางจิต และกัลยาณปุถุชน คนที่ได้
รับการศึกษาอบรมทางจิตแล้ว (ที.สี.อ. 7/58-59)
2 พรหมจรรย์มีความหมายหลายนัย ในที่นี้หมายถึงเมถุนวิรัติ หรือการงดเว้นจากเมถุนธรรม (ที.สี.อ.
189 /160)
3 กิจของคนคู่ หมายถึงการร่วมประเวณีหรือการเสพสังวาสกัน (ที.สี.อ. 8/70 )

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :3 }