เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [10.สุภสูตร] สีลขันธ์

พระตถาคต เมื่อมีศรัทธาย่อมตระหนักว่า ‘การอยู่ครองเรือนเป็นเรื่องอึดอัด เป็น
ทางแห่งธุลี การบวชเป็นทางปลอดโปร่ง การที่ผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์
ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยสิ้นเชิงดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ทางที่ดี เราควรโกนผมและ
หนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนไปบวชเป็นบรรพชิต’ ต่อมาเขาละทิ้งกอง
โภคสมบัติน้อยใหญ่และเครือญาติน้อยใหญ่ โกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาว-
พัสตร์ออกจากเรือนไปบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้วอย่างนี้ สำรวมด้วยการสังวร
ในพระปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วยมารยาทและโคจร(การเที่ยวไป) เห็นภัยในโทษแม้
เพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบท ประกอบด้วยกายกรรมและวจีกรรม
อันเป็นกุศล มีอาชีวะบริสุทธิ์ สมบูรณ์ด้วยศีล คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ(และ) เป็นผู้สันโดษ
[451] ภิกษุชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอย่างไร คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ละ
เว้นขาดการฆ่าสัตว์ วางทัณฑาวุธและศัสตราวุธ มีความละอาย มีความเอ็นดู มุ่ง
ประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่ ข้อนี้จัดเป็นศีลของภิกษุอย่างหนึ่ง (ต่อจากนี้พึง
ขยายศีลทุกข้อให้พิสดาร)1
ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพผิดทางด้วยเดรัจฉานวิชา เช่นที่สมณพราหมณ์ผู้
เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังเลี้ยงชีพผิดทางด้วยเดรัจฉาน-
วิชาอย่างนี้ คือ ทำพิธีบนบาน พิธีแก้บน ร่ายมนตร์ขับผี ตั้งศาลพระภูมิ ทำกะเทย
ให้เป็นชาย ทำชายให้เป็นกะเทย ทำพิธีปลูกเรือน พิธีบวงสรวงพื้นที่ พ่นน้ำมนตร์
รดน้ำมนตร์ พิธีบูชาไฟ ปรุงยาสำรอก ยาถ่าย ยาแก้โรคลมตีขึ้นเบื้องบน
ยาแก้โรคลมตีลงเบื้องต่ำ ยาแก้ปวดศีรษะ น้ำมันหยอดหู น้ำมันหยอดตา ยานัตถุ์
ยาหยอดตา ยาป้ายตา เป็นหมอตา หมอผ่าตัด หมอรักษาเด็ก(กุมารเวช) การให้
สมุนไพรและยา การใส่ยาแล้วล้างออกเมื่อโรคหาย ข้อนี้จัดเป็นศีลของภิกษุอย่างหนึ่ง
[452] ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้ ย่อมไม่ประสบภัยอันตรายจากการ
สำรวมในศีลเลย เปรียบเหมือนกษัตริย์ผู้ได้รับมูรธาภิเษกเป็นพระราชา กำจัดข้าศึก
ได้แล้ว ย่อมไม่ประสบภัยอันตรายจากข้าศึกเลย ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยอริยสีลขันธ์

เชิงอรรถ :
1 ความเต็มเหมือนในสามัญญผลสูตร ข้อ 194-211

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :199 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [10.สุภสูตร] สมาธิขันธ์

อย่างนี้ ย่อมเสวยสุขอันไม่มีโทษในภายใน มาณพ ภิกษุชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยศีลเป็น
อย่างนี้แล
[453] มาณพ อริยสีลขันธ์ที่พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญและทรงให้
ประชาชนสมาทานตั้งมั่นอยู่เป็นอย่างนี้ แต่ในพระธรรมวินัยนี้ยังมีกรณียกิจที่ต้อง
ปฏิบัติยิ่งขึ้นไปกว่าขั้นอริยสีลขันธ์นี้อีก”
เขากล่าวว่า “น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ อริยสีลขันธ์บริบูรณ์แล้ว ไม่ใช่ไม่
บริบูรณ์ ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นอริยสีลขันธ์ที่บริบูรณ์อย่างนี้ ในสมณพราหมณ์เหล่าอื่น
นอกพระศาสนานี้เลย สมณพราหมณ์เหล่าอื่นนอกพระศาสนานี้ เห็นอริยสีลขันธ์ที่
บริบูรณ์อย่างนี้ในตน ก็จะพอใจว่า ‘เพียงแค่นี้พอแล้ว เพียงแค่นี้สำเร็จแล้ว เราได้
บรรลุสามัญคุณแล้ว ไม่มีกรณียกิจที่ต้องปฏิบัติยิ่งขึ้นไปกว่าขั้นนี้อีก’ แต่ท่านยังบอก
ว่า ‘ในพระธรรมวินัยนี้ยังมีกรณียกิจที่ต้องปฏิบัติยิ่งขึ้นไปกว่าขั้นอริยสีลขันธ์นี้อีก’

สมาธิขันธ์

[454] อริยสมาธิขันธ์ที่ท่านพระโคดมตรัสสรรเสริญและทรงให้ประชาชน
สมาทานตั้งมั่นอยู่เป็นอย่างไร ท่านอานนท์”
ท่านพระอานนท์ตอบว่า “มาณพ ภิกษุชื่อว่าคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เห็นรูปด้วยตาแล้วไม่รวบถือ ไม่แยกถือ
ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมในจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาป
อกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมใน
จักขุนทรีย์ ฟังเสียงด้วยหู ฯลฯ ดมกลิ่นด้วยจมูก ฯลฯ ลิ้มรสด้วยลิ้น ฯลฯ ถูกต้อง
โผฏฐัพพะด้วยกาย ฯลฯ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้วไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติ
เพื่อสำรวมในมนินทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคือ
อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุ
ผู้ประกอบด้วยความสำรวมอินทรีย์อันเป็นอริยะนี้ ย่อมเสวยสุขที่ไม่ระคนกับกิเลส
ในภายใน มาณพ ภิกษุชื่อว่าคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายเป็นอย่างนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :200 }