เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [9.โปฏฐปาทสูตร]
เรื่องจิตตหัตถิ สารีบุตร และโปฏฐปาทปริพาชก

ธรรม1 เราได้แสดงและบัญญัติไว้แล้ว ธรรมที่เป็นอเนกังสิกธรรม2 เราก็ได้แสดงและ
บัญญัติไว้แล้ว
โปฏฐปาทะ เราแสดงและบัญญัติธรรมเหล่าไหนว่าเป็นอเนกังสิกธรรม คือ
ธรรมที่ว่า โลกเที่ยง หรือโลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด หรือโลกไม่มีที่สุด ชีวะกับสรีระเป็น
อย่างเดียวกัน หรือชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน หลังจากตายแล้วตถาคตเกิด
อีก หรือหลังจากตายแล้วตถาคตไม่เกิดอีก หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีกและไม่
เกิดอีก หรือหลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ เรา
แสดงและบัญญัติธรรมเหล่านี้ว่าเป็นอเนกังสิกธรรม
โปฏฐปาทะ เพราะเหตุไร เราจึงแสดงและบัญญัติธรรมเหล่านี้ว่าเป็นอเนกังสิก-
ธรรมเล่า เพราะว่าธรรมเหล่านี้ไม่มีประโยชน์ ไม่มีสาระ ไม่ใช่จุดเริ่มต้นแห่ง
พรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัดยินดี ไม่เป็น
ไปเพื่อดับ ไม่เป็นไปเพื่อสงบระงับ ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ ไม่เป็นไป
เพื่อนิพพาน ฉะนั้น เราจึงแสดงและบัญญัติธรรมเหล่านี้ว่าเป็นอเนกังสิกธรรม
[424] โปฏฐปาทะ เราแสดงและบัญญัติธรรมเหล่าไหนว่าเป็นเอกังสิกธรรม
คือธรรมที่ว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย (เหตุเกิดทุกข์) นี้ทุกขนิโรธ (ความดับทุกข์) นี้
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา (ข้อปฏิบัติเครื่องดำเนินไปสู่ความดับทุกข์) เราแสดงและ
บัญญัติธรรมเหล่านี้ว่าเป็นเอกังสิกธรรม
โปฏฐปาทะ เพราะเหตุไร เราจึงแสดงและบัญญัติธรรมเหล่านี้ว่าเป็นเอกังสิก-
ธรรมเล่า เพราะว่าธรรมเหล่านี้มีประโยชน์ มีสาระ เป็นจุดเริ่มต้นแห่งพรหมจรรย์
เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัดยินดี เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อ
รู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ฉะนั้น เราจึงแสดงและบัญญัติธรรมเหล่านี้ว่าเป็น
เอกังสิกธรรม

เชิงอรรถ :
1 ธรรมที่เป็นได้อย่างเดียว ได้แก่ ธรรมที่มีความชัดเจน แน่นอน สามารถบอกได้ว่าเป็นอย่างนั้น ไม่เป็น
อย่างอื่น เช่นเหตุของทุกข์คือตัณหาเท่านั้น (ที.สี.อ. 423/314)
2 ธรรมที่เป็นได้หลายอย่าง ได้แก่สิ่งที่ไม่อาจตอบได้ว่า ใช่หรือไม่ใช่ เพียงอย่างเดียว เช่น ไม่อาจตอบว่า
โลกเที่ยงหรือโลกไม่เที่ยง (ที.สี.อ. 423/314)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :186 }