เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [9.โปฏฐปาทสูตร] ว่าด้วยสัญญาและอัตตา

เขาทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าข้าพระองค์มีทิฏฐิแตกต่างกันมี
ความถูกใจแตกต่างกัน มีความพอใจแตกต่างกัน มีความมุ่งหมายแตกต่างกัน
มีอาจารย์แตกต่างกันจึงเข้าใจได้ยากว่า สัญญาเป็นอัตตาของคน หรือว่าสัญญากับ
อัตตาเป็นคนละอย่างกัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น
เป็นโมฆะกระนั้นหรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เรื่องนี้เราไม่ตอบ”
เขาทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โลกไม่เที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็น
โมฆะกระนั้นหรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เรื่องนี้เราไม่ตอบ”
เขาทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โลกมีที่สุด ฯลฯ โลกไม่มีที่สุด ชีวะกับ
สรีระเป็นอย่างเดียวกัน ชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน หลังจากตายแล้ว ตถาคต1
เกิดอีก หลังจากตายแล้ว ตถาคตไม่เกิดอีก หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกและ
ไม่เกิดอีก หลังจากตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ นี้
เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะกระนั้นหรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เรื่องนี้เราไม่ตอบ”
เขาทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะเหตุไร พระองค์จึงไม่ทรงตอบ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เพราะเรื่องนั้นไม่มีประโยชน์ ไม่มีสาระ ไม่ใช่จุด
เริ่มต้นของพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัดยินดี
ไม่เป็นไปเพื่อดับ ไม่เป็นไปเพื่อสงบระงับ ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ ไม่
เป็นไปเพื่อนิพพาน ฉะนั้นเราจึงไม่ตอบ”
เขาทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงตอบเรื่องอะไรเล่า”

เชิงอรรถ :
1 ตถาคต ในที่นี้เป็นคำที่ลัทธิอื่น ๆ ใช้กันมาก่อนพุทธกาล หมายถึง อัตตา (อาตมัน) ไม่ได้หมายถึงพระ
พุทธเจ้า อรรถกถาอธิบายว่า หมายถึง สัตตะ (ที.สี.อ. 65/108 )

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :183 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [9.โปฏฐปาทสูตร] ว่าด้วยสัญญาและอัตตา

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เราตอบเรื่องทุกข์ เรื่องทุกขสมุทัย (เหตุเกิดทุกข์)
เรื่องทุกขนิโรธ (ความดับทุกข์) เรื่องทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา (ข้อปฏิบัติเครื่อง
ดำเนินไปสู่ความดับทุกข์)”
เขาทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะเหตุไรพระองค์จึงทรงตอบเรื่อง
นั้น”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เพราะเรื่องนั้นมีประโยชน์ มีสาระ เป็นจุดเริ่ม
ต้นของพรหมจรรย์ เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัดยินดี เพื่อดับ เพื่อ
สงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ฉะนั้นเราจึงตอบ”
เขากราบทูลว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต
ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด
พระพุทธเจ้าข้า”
ทีนั้น พระผู้มีพระภาคทรงลุกขึ้นจากอาสนะเสด็จจากไปแล้ว
[421] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จจากไปไม่นาน พวกปริพาชกได้ตัดพ้อ
ต่อว่าโปฏฐปาทปริพาชกด้วยคำตัดพ้อ ต่อว่า ทิ่มแทงว่า “ท่านโปฏฐปาทะเป็นคน
อย่างนี้นี่เอง ท่านโปฏฐปาทะพลอยชื่นชมคำพูดของพระสมณโคดมทุกคำว่า ‘ข้าแต่
พระผู้มีพระภาค ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต ข้อนี้เป็นอย่างนั้น’ แต่พวกเรา
กลับไม่เข้าใจความหมายที่พระสมณโคดมตรัสแม้แต่นิดเดียวว่า โลกเที่ยง หรือโลก
ไม่เที่ยง โลกมีที่สุด หรือโลกไม่มีที่สุด ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือชีวะกับ
สรีระเป็นคนละอย่างกัน หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีก หรือหลังจากตายแล้ว
ตถาคตไม่เกิดอีก หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีกและไม่เกิดอีก หรือหลังจากตาย
แล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่”
เมื่อพวกปริพาชกกล่าวอย่างนี้ โปฏฐปาทปริพาชกได้บอกพวกเขาว่า “ท่าน
ทั้งหลาย ข้าพเจ้าเองก็ไม่เข้าใจความหมายที่พระสมณโคดมตรัสไว้แม้แต่นิดเดียวว่า
‘โลกเที่ยง หรือโลกไม่เที่ยง ฯลฯ หรือหลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่
จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่’ แต่ว่า พระสมณโคดมทรงบัญญัติข้อปฏิบัติที่จริง แท้ แน่นอน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :184 }