เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [9.โปฏฐปาทสูตร] ว่าด้วยสัญญาและอัตตา

สัญญากับอัตตาก็เป็นคนละอย่างกัน ตามข้อนี้ท่านพึงทราบโดยปริยายว่า สัญญา
กับอัตตาเป็นคนละอย่างกัน อัตตาหยาบซึ่งมีรูปที่ประกอบด้วยมหาภูตรูป 4
บริโภคอาหารเป็นคำ ๆ นี้ จงยกไว้ก่อน ถ้าสัญญาของคนที่พูดถึงนี้อย่างหนึ่งเกิด
และอีกอย่างหนึ่งดับ ท่านก็พึงทราบโดยปริยายนี้ว่า สัญญากับอัตตาเป็นคนละ
อย่างกัน”
[418] เขากราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์หมายถึงอัตตา
ที่สำเร็จด้วยใจ มีอวัยวะครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โปฏฐปาทะ อัตตาที่ท่านพูดถึงนั้นเป็นอัตตาที่สำเร็จ
ด้วยใจ มีอวัยวะครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง เมื่อเป็นเช่นนี้ สัญญากับอัตตา
ก็เป็นคนละอย่างกัน ตามข้อนี้ ท่านก็พึงทราบโดยปริยายนี้ว่า สัญญากับอัตตาเป็น
คนละอย่างกัน อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ มีอวัยวะครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง จงยก
ไว้ก่อน ถ้าสัญญาของคนที่พูดถึงนี้อย่างหนึ่งเกิดและอีกอย่างหนึ่งดับ ท่านก็พึง
ทราบโดยปริยายนี้ว่า สัญญากับอัตตาเป็นคนละอย่างกัน”
[419] เขากราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์หมายถึงอัตตาที่
ไม่มีรูป สำเร็จด้วยสัญญา”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โปฏฐปาทะ อัตตาที่ท่านพูดถึงนั้นเป็นอัตตาที่ไม่มี
รูป สำเร็จด้วยสัญญา เมื่อเป็นเช่นนี้ สัญญากับอัตตาก็เป็นคนละอย่างกัน ตามข้อ
นี้ ท่านก็พึงทราบโดยปริยายนี้ว่า สัญญากับอัตตาเป็นคนละอย่างกัน อัตตาที่ไม่มี
รูปสำเร็จด้วยสัญญา จงยกไว้ก่อน ถ้าสัญญาของคนที่พูดถึงนี้อย่างหนึ่งเกิดและ
อีกอย่างหนึ่งดับ ท่านก็พึงทราบโดยปริยายนี้ว่า สัญญากับอัตตาเป็นคนละอย่างกัน”
[420] เขาทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อาจรู้ได้ไหมว่า
สัญญาเป็นอัตตาของคน หรือว่าสัญญากับอัตตาเป็นคนละอย่างกัน”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “โปฏฐปาทะ ท่านมีทิฏฐิแตกต่างกัน มีความถูก
ใจแตกต่างกัน มีความพอใจแตกต่างกัน มีความมุ่งหมายแตกต่างกัน มีอาจารย์
แตกต่างกัน จึงเข้าใจได้ยากว่า สัญญาเป็นอัตตาของคน หรือว่าสัญญากับอัตตา
เป็นคนละอย่างกัน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :182 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [9.โปฏฐปาทสูตร] ว่าด้วยสัญญาและอัตตา

เขาทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าข้าพระองค์มีทิฏฐิแตกต่างกันมี
ความถูกใจแตกต่างกัน มีความพอใจแตกต่างกัน มีความมุ่งหมายแตกต่างกัน
มีอาจารย์แตกต่างกันจึงเข้าใจได้ยากว่า สัญญาเป็นอัตตาของคน หรือว่าสัญญากับ
อัตตาเป็นคนละอย่างกัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น
เป็นโมฆะกระนั้นหรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เรื่องนี้เราไม่ตอบ”
เขาทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โลกไม่เที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็น
โมฆะกระนั้นหรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เรื่องนี้เราไม่ตอบ”
เขาทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โลกมีที่สุด ฯลฯ โลกไม่มีที่สุด ชีวะกับ
สรีระเป็นอย่างเดียวกัน ชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน หลังจากตายแล้ว ตถาคต1
เกิดอีก หลังจากตายแล้ว ตถาคตไม่เกิดอีก หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกและ
ไม่เกิดอีก หลังจากตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ นี้
เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะกระนั้นหรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เรื่องนี้เราไม่ตอบ”
เขาทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะเหตุไร พระองค์จึงไม่ทรงตอบ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เพราะเรื่องนั้นไม่มีประโยชน์ ไม่มีสาระ ไม่ใช่จุด
เริ่มต้นของพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัดยินดี
ไม่เป็นไปเพื่อดับ ไม่เป็นไปเพื่อสงบระงับ ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ ไม่
เป็นไปเพื่อนิพพาน ฉะนั้นเราจึงไม่ตอบ”
เขาทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงตอบเรื่องอะไรเล่า”

เชิงอรรถ :
1 ตถาคต ในที่นี้เป็นคำที่ลัทธิอื่น ๆ ใช้กันมาก่อนพุทธกาล หมายถึง อัตตา (อาตมัน) ไม่ได้หมายถึงพระ
พุทธเจ้า อรรถกถาอธิบายว่า หมายถึง สัตตะ (ที.สี.อ. 65/108 )

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :183 }