เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [9.โปฏฐปาทสูตร]
ว่าด้วยสัญญามีเหตุมีปัจจัยเกิดดับ

[414] โปฏฐปาทะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ที่ยังมีสกสัญญา1 เธอออกจาก
ปฐมฌานเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานเข้าตติยฌาน จนถึงอากิญจัญญายตน-
ฌานอันเป็นที่สุดแห่งสัญญาโดยลำดับ เมื่อเธออยู่ในอากิญจัญญายตนฌานอันเป็น
ที่สุดแห่งสัญญา เกิดความคิดขึ้นมาอย่างนี้ว่า ‘เมื่อเรายังคิดอยู่ไม่ดีเลย ไม่คิดเสียจะ
ดีกว่า ถ้าเรายังคิดยังคำนึง สัญญาเหล่านี้ (ที่เราได้มาแล้ว)จะพึงดับ สัญญาอื่นที่
หยาบจะเกิดขึ้นแทน ทางที่ดีเราไม่ควรคิดและไม่ควรคำนึง’ เธอจึงไม่คิดไม่คำนึง
เมื่อเธอไม่คิดไม่คำนึง สัญญานั้นจึงดับไป สัญญาอื่นที่หยาบก็ไม่เกิดขึ้น เธอจึงบรรลุ
นิโรธ โปฏฐปาทะ การเข้าถึงความดับสัญญาของภิกษุผู้มีความรู้ตัวโดยลำดับ ย่อมมี
ได้ด้วยอาการอย่างนี้
โปฏฐปาทะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร การเข้าถึงความดับสัญญาของภิกษุ
ผู้มีความรู้สึกตัวโดยลำดับเช่นนี้ ท่านเคยได้ยินมาก่อนบ้างหรือไม่”
เขากราบทูลว่า “ไม่เคยได้ยินเลย พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์เพิ่งรู้ทั่วถึง
ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วเดี๋ยวนี้เองว่า ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ที่ยังมี
สกสัญญา เธอออกจากปฐมฌานเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานเข้าตติยฌาน
จนถึงอากิญจัญญายตนฌานอันเป็นที่สุดแห่งสัญญาโดยลำดับ เมื่อเธออยู่ใน
อากิญจัญญายตนฌานอันเป็นที่สุดแห่งสัญญา เกิดความคิดขึ้นมาอย่างนี้ว่า ‘เมื่อ
เรายังคิดอยู่ไม่ดีเลย ไม่คิดเสียจะดีกว่า ถ้าเรายังคิดยังคำนึง สัญญาเหล่านี้ (ที่เรา
ได้มาแล้ว)จะพึงดับ สัญญาอื่นที่หยาบจะเกิดขึ้นแทน ทางที่ดีเราไม่ควรคิดและไม่
ควรคำนึง’ เธอจึงไม่คิดไม่คำนึง เมื่อเธอไม่คิดไม่คำนึง สัญญานั้นจึงดับไป สัญญา
อื่นที่หยาบก็ไม่เกิดขึ้น เธอจึงบรรลุนิโรธ การเข้าถึงความดับสัญญาของภิกษุผู้มี
ความรู้สึกตัวโดยลำดับ ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เป็นอย่างนั้น โปฏฐปาทะ”
[415] เขาทูลถามว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติอากิญจัญญายตนฌาน
อันเป็นที่สุดแห่งสัญญาไว้อย่างเดียวหรือบัญญัติไว้หลายอย่าง พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
1 ความสำคัญว่าเป็นของตน, นึกว่าเป็นของตนเอง (ที.สี.อ. 414/308)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :180 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [9.โปฏฐปาทสูตร] ว่าด้วยสัญญาและอัตตา

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “โปฏฐปาทะ เราบัญญัติอากิญจัญญายตนฌาน
อันเป็นที่สุดแห่งสัญญาไว้อย่างเดียวก็มี หลายอย่างก็มี”
เขาทูลถามว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติอากิญจัญญายตนฌานอันเป็น
ที่สุดแห่งสัญญาไว้อย่างเดียวก็มี หลายอย่างก็มี โดยวิธีใดบ้าง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “โปฏฐปาทะ เราบัญญัติอากิญจัญญายตนฌาน
อันเป็นที่สุดแห่งสัญญาไว้โดยวิธีที่พระโยคาวจรจะบรรลุนิโรธได้ ดังนั้นเราจึงบัญญัติ
อากิญจัญญายตนฌานอันเป็นที่สุดแห่งสัญญาอย่างเดียวก็มี หลายอย่างก็มี”
[416] เขาทูลถามว่า “สัญญาเกิดขึ้นก่อนญาณ หรือว่าญาณเกิดขึ้นก่อน
สัญญา1 หรือว่าทั้งสัญญาและญาณเกิดขึ้นพร้อมกัน พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “โปฏฐปาทะ สัญญาเกิดขึ้นก่อนญาณ เพราะมี
สัญญาเกิดขึ้นจึงมีญาณเกิดขึ้น ภิกษุย่อมรู้อย่างนี้ว่า ‘เพราะสัญญาเป็นปัจจัย ญาณ
จึงเกิดขึ้นแก่เรา’ โปฏฐปาทะ ท่านพึงทราบโดยปริยายนี้ว่า สัญญาเกิดขึ้นก่อน
ญาณ เพราะมีสัญญาเกิดขึ้นจึงมีญาณเกิดขึ้น”

ว่าด้วยสัญญากับอัตตา

[417] โปฏฐปาทปริพาชกทูลถามว่า “สัญญาเป็นอัตตาของคนหรือว่า
สัญญากับอัตตาเป็นคนละอย่างกัน พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “โปฏฐปาทะ ท่านหมายถึงอัตตาเช่นไร”
เขากราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์หมายถึงอัตตาหยาบซึ่ง
มีรูปที่ประกอบด้วยมหาภูตรูป 4 บริโภคอาหารเป็นคำ ๆ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “โปฏฐปาทะ อัตตาที่ท่านพูดถึงนั้นเป็นอัตตา
หยาบซึ่งมีรูปที่ประกอบด้วยมหาภูตรูป 4 บริโภคอาหารเป็นคำ ๆ เมื่อเป็นเช่นนี้

เชิงอรรถ :
1 เป็นคำถามในทำนองว่า ระหว่างสัญญากับญาณ ฝ่ายไหนเกิดก่อนกัน อนึ่ง คู่ของสัญญาและญาณมี
ฝ่ายละ 3 คือ ญาณสัญญา กับ วิปัสสนาญาณ, วิปัสสนาสัญญา กับ มัคคญาณ และมัคคสัญญา กับ
ผลญาณ (ที.สี.อ. 416/310)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :181 }