เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [9.โปฏฐปาทสูตร]
ว่าด้วยสัญญามีเหตุมีปัจจัยเกิดดับ

สัจสัญญาอันละเอียดมีสุขอันเกิดจากอุเบกขาที่มีอยู่ก่อนจะดับไป สัจสัญญาอัน
ละเอียดที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุขจะเกิดขึ้นแทน สัญญาอย่างหนึ่งเกิดเพราะการศึกษา
สัญญาอีกอย่างหนึ่งดับเพราะการศึกษาอย่างนี้ นี้จัดเป็นการศึกษาอย่างหนึ่ง
ยังมีอีก โปฏฐปาทะ ภิกษุบรรลุอากาสานัญจายตนฌาน1 โดยกำหนดว่า
อากาศหาที่สุดมิได้ เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนดนานัตตสัญญา
โดยประการทั้งปวง รูปสัญญาที่มีอยู่ก่อนจะดับไป สัจสัญญาอันละเอียดประกอบ
ด้วยอากาสานัญจายตนฌานจะเกิดขึ้นแทน ภิกษุนั้นมีสัจสัญญาอันละเอียดประกอบ
ด้วยอากาสานัญจายตนฌานในตอนนั้น สัญญาอย่างหนึ่งเกิดเพราะการศึกษา
สัญญาอีกอย่างหนึ่งดับเพราะการศึกษาอย่างนี้ นี้จัดเป็นการศึกษาอย่างหนึ่ง
ยังมีอีก โปฏฐปาทะ ภิกษุล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง
บรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน2 โดยกำหนดว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้ สัจสัญญาอัน
ละเอียดประกอบด้วยอากาสานัญจายตนฌานที่มีอยู่ก่อนจะดับไป สัจสัญญา
อันละเอียดประกอบด้วยวิญญาณัญจายตนฌานจะเกิดขึ้นแทน ภิกษุนั้นมีสัจสัญญา
อันละเอียดประกอบด้วยวิญญาณัญจายตนฌานในตอนนั้น สัญญาอย่างหนึ่งเกิด
เพราะการศึกษา สัญญาอีกอย่างหนึ่งดับเพราะการศึกษาอย่างนี้ นี้จัดเป็นการศึกษา
อย่างหนึ่ง
ยังมีอีก โปฏฐปาทะ ภิกษุล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง
บรรลุอากิญจัญญายตนฌาน3 โดยกำหนดว่า ไม่มีอะไร สัจสัญญาอันละเอียด
ประกอบด้วยวิญญาณัญจายตนฌานที่มีอยู่ก่อนจะดับไป สัจสัญญาอันละเอียด
ประกอบด้วยอากิญจัญญายตนฌานจะเกิดขึ้นแทน ภิกษุนั้นมีสัจสัญญาอันละเอียด
ประกอบด้วยอากิญจัญญายตนฌานในตอนนั้น สัญญาอย่างหนึ่งเกิดเพราะการศึกษา
สัญญาอีกอย่างหนึ่งดับเพราะการศึกษาอย่างนี้ นี้จัดเป็นการศึกษาอย่างหนึ่ง

เชิงอรรถ :
1 ฌานที่กำหนดอากาศคือช่องว่างอันหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ เป็นขั้นที่ 1 ของอรูปฌา 4
2 ฌานที่กำหนดวิญญาณอันหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ เป็นขั้นที่ 2 ของอรูปฌาน 4
3 ฌานที่กำหนดภาวะอันไม่มีอะไร (ความว่าง) เป็นอารมณ์ อากิญจัญญายตนฌาน เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า
สัญญัคคะ (ที่สุดแห่งสัญญา) เพราะเป็นภาวะสุดท้ายของการมีสัญญา กล่าวคือ ผู้บรรลุอากิญจัญ-
ญายตนฌานแล้ว ขั้นต่อไปจะเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานบ้าง เข้าถึงสัญญานิโรธบ้าง (ที.สี.อ.
414/308)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :179 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [9.โปฏฐปาทสูตร]
ว่าด้วยสัญญามีเหตุมีปัจจัยเกิดดับ

[414] โปฏฐปาทะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ที่ยังมีสกสัญญา1 เธอออกจาก
ปฐมฌานเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานเข้าตติยฌาน จนถึงอากิญจัญญายตน-
ฌานอันเป็นที่สุดแห่งสัญญาโดยลำดับ เมื่อเธออยู่ในอากิญจัญญายตนฌานอันเป็น
ที่สุดแห่งสัญญา เกิดความคิดขึ้นมาอย่างนี้ว่า ‘เมื่อเรายังคิดอยู่ไม่ดีเลย ไม่คิดเสียจะ
ดีกว่า ถ้าเรายังคิดยังคำนึง สัญญาเหล่านี้ (ที่เราได้มาแล้ว)จะพึงดับ สัญญาอื่นที่
หยาบจะเกิดขึ้นแทน ทางที่ดีเราไม่ควรคิดและไม่ควรคำนึง’ เธอจึงไม่คิดไม่คำนึง
เมื่อเธอไม่คิดไม่คำนึง สัญญานั้นจึงดับไป สัญญาอื่นที่หยาบก็ไม่เกิดขึ้น เธอจึงบรรลุ
นิโรธ โปฏฐปาทะ การเข้าถึงความดับสัญญาของภิกษุผู้มีความรู้ตัวโดยลำดับ ย่อมมี
ได้ด้วยอาการอย่างนี้
โปฏฐปาทะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร การเข้าถึงความดับสัญญาของภิกษุ
ผู้มีความรู้สึกตัวโดยลำดับเช่นนี้ ท่านเคยได้ยินมาก่อนบ้างหรือไม่”
เขากราบทูลว่า “ไม่เคยได้ยินเลย พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์เพิ่งรู้ทั่วถึง
ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วเดี๋ยวนี้เองว่า ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ที่ยังมี
สกสัญญา เธอออกจากปฐมฌานเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานเข้าตติยฌาน
จนถึงอากิญจัญญายตนฌานอันเป็นที่สุดแห่งสัญญาโดยลำดับ เมื่อเธออยู่ใน
อากิญจัญญายตนฌานอันเป็นที่สุดแห่งสัญญา เกิดความคิดขึ้นมาอย่างนี้ว่า ‘เมื่อ
เรายังคิดอยู่ไม่ดีเลย ไม่คิดเสียจะดีกว่า ถ้าเรายังคิดยังคำนึง สัญญาเหล่านี้ (ที่เรา
ได้มาแล้ว)จะพึงดับ สัญญาอื่นที่หยาบจะเกิดขึ้นแทน ทางที่ดีเราไม่ควรคิดและไม่
ควรคำนึง’ เธอจึงไม่คิดไม่คำนึง เมื่อเธอไม่คิดไม่คำนึง สัญญานั้นจึงดับไป สัญญา
อื่นที่หยาบก็ไม่เกิดขึ้น เธอจึงบรรลุนิโรธ การเข้าถึงความดับสัญญาของภิกษุผู้มี
ความรู้สึกตัวโดยลำดับ ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เป็นอย่างนั้น โปฏฐปาทะ”
[415] เขาทูลถามว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติอากิญจัญญายตนฌาน
อันเป็นที่สุดแห่งสัญญาไว้อย่างเดียวหรือบัญญัติไว้หลายอย่าง พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
1 ความสำคัญว่าเป็นของตน, นึกว่าเป็นของตนเอง (ที.สี.อ. 414/308)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :180 }