เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [9.โปฏฐปาทสูตร] ว่าด้วยอภิญญานิโรธ

[409] โปฏฐปาทปริพาชกเห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกลจึงห้ามบริษัท
ของตนว่า “ท่านทั้งหลายโปรดเงียบหน่อย อย่าส่งเสียงอื้ออึง พระสมณโคดมกำลัง
เสด็จมา พระองค์โปรดเสียงเบา ตรัสสรรเสริญเสียงเบา บางทีเมื่อพระองค์ทรง
ทราบว่าบริษัทเสียงเบา อาจจะเสด็จเข้ามาก็ได้” เมื่อเขากล่าวอย่างนี้ ปริพาชก
เหล่านั้นจึงได้เงียบ
[410] ทีนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปหาโปฏฐปาทปริพาชก โปฏฐปาท-
ปริพาชกจึงทูลเชิญว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเสด็จเข้ามาเถิด
ขอรับเสด็จพระผู้มีพระภาค นาน ๆ พระองค์จะมีเวลาเสด็จมาที่นี่ ขอพระผู้มี
พระภาคประทับนั่งบนอาสนะที่ปูไว้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะที่ปูไว้ ส่วนโปฏฐปาทปริพาชกก็เลือกนั่ง
ณ ที่สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามว่า “โปฏฐปาทะ เวลา
นี้พวกท่านนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร พูดเรื่องอะไรค้างไว้”

ว่าด้วยอภิสัญญานิโรธ1

[411] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ โปฏฐปาทปริพาชกกราบทูลว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องที่พวกข้าพระองค์สนทนากันในวลานี้ของดไว้ก่อน เรื่อง
นี้พระองค์จะทรงสดับเมื่อใดก็ได้ในภายหลัง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันก่อน ๆ พวก
สมณพราหมณ์ผู้มีลัทธิต่างกันได้มาชุมนุมกันที่ศาลาถกแถลง2 ตั้งประเด็นสนทนา
กันเรื่องอภิสัญญานิโรธว่า ‘ท่านทั้งหลาย อภิสัญญานิโรธ คืออะไร’ ในบรรดา
สมณพราหมณ์เหล่านั้น บางพวกเสนอว่า ‘สัญญาของคนไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย เกิดดับ
ไปเอง เวลาที่เกิดสัญญา คนก็มีความจำ เมื่อสัญญาดับ คนก็จำอะไรไม่ได้’ พวก
หนึ่งเสนอประเด็นเรื่องอภิสัญญานิโรธไว้อย่างนี้

เชิงอรรถ :
1 หัวข้อสนทนาว่าด้วยการดับของสัญญา ซึ่งในอรรถกถาแก้เป็นจิตตนิโรธหรือความดับจิต อันเป็นการดับ
ชั่วคราว (ที.สี.อ. 411/304-305)
2 ศัพท์บาลีว่า โกตุหลศาลา อรรถกถาแก้ว่า ไม่มีศาลาที่มีชื่ออย่างนี้โดยเฉพาะ แต่เป็นสถานที่
ที่สมณพราหมณ์ผู้เป็นเดียรถีย์ต่างพวกมาแสดงทรรศนะตามลัทธิของตน (ที.สี.อ. 411/304)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :176 }