เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [9.โปฏฐปาทสูตร]
เรื่องโปฏฐปาทปริพาชก

9. โปฏฐปาทสูตร
ว่าด้วยปริพาชกชื่อโปฏฐปาทะ

เรื่องโปฏฐปาทปริพาชก

[406] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวันอารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ในสมัยนั้น โปฏฐปาทปริพาชกพร้อมด้วยปริพาชกบริษัทหมู่
ใหญ่ประมาณ 3,000 รูป พักอยู่ในพระราชอุทยานของพระนางมัลลิกา ชื่อเอกสาลกะ
ที่จัดไว้เพื่อเป็นที่ประกาศลัทธิ รายล้อมด้วยต้นมะพลับ เช้าวันนั้น พระผู้มีพระภาค
ทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปกรุงสาวัตถีเพื่อบิณฑบาต
[407] พระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า ‘ยังเช้าเกินไปที่จะเที่ยวบิณฑบาตในกรุง
สาวัตถี ทางที่ดี เราควรเข้าไปหาโปฏฐปาทปริพาชกในพระราชอุทยานของพระ
นางมัลลิกา ชื่อเอกสาลกะ ที่จัดไว้เพื่อเป็นที่ประกาศลัทธิ’ จึงเสด็จเข้าไปที่พระ
ราชอุทยานของพระนางมัลลิกาชื่อเอกสาลกะ ที่จัดไว้เพื่อเป็นที่ประกาศลัทธิ1
[408] เวลานั้น โปฏฐปาทปริพาชกกำลังนั่งสนทนาด้วยเสียงดังอื้ออึงอยู่กับ
ปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ถึงเดรัจฉานกถาต่าง ๆ คือ เรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่อง
มหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องการรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่อง
ที่นอน เรื่องพวงดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม
เรื่องเมืองหลวง เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่อง
ท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญ
และความเสื่อม

เชิงอรรถ :
1 เหตุการณ์ในพระสูตรนี้บอกให้ทราบถึงสภาพทางสังคมในสมัยพุทธกาลอย่างหนึ่ง คือ สมัยนั้นคนชอบ
แสวงหาความรู้ ใครต้องการแสดงทรรศนะของตนก็สามารถไปแสดงในศาลาถกแถลงที่จัดไว้ อีกทั้ง
ยืนยันว่า การประกาศธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า มิใช่ว่าพระองค์จะทรงวางท่าทีเป็นปรปักษ์กับนักบวช
ต่างลัทธิ (ที.สี.อ. 406/301)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :175 }