เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [8.มหาสีหนาทสูตร]
ความสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นต้น

เพราะคหบดีหรือบุตรคหบดีแม้กระทั่งนางกุมภทาสีก็อาจรู้จักสมณะและ
พราหมณ์นั้นได้ด้วยกล่าวว่า ‘ผู้นี้นุ่งห่มผ้าป่าน นุ่งห่มผ้าแกมกัน ฯลฯ อาบน้ำ
วันละ 3 ครั้ง คือถือการลงอาบน้ำ’
เพราะสมณะหรือพราหมณ์จักได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่รู้ได้ยากแสนยาก ก็ต่อเมื่อได้เว้น
จากการปฏิบัติเล็ก ๆ น้อย ๆ และจากการบำเพ็ญตบะเช่นนี้ ฉะนั้นจึงควรกล่าวว่า
‘สมณะเป็นผู้ที่รู้ได้ยาก พราหมณ์เป็นผู้ที่รู้ได้ยาก’ หากภิกษุเจริญเมตตาจิตอัน
ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ทำให้รู้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ
เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ภิกษุนี้เราเรียกว่า
สมณะบ้าง ว่าพราหมณ์บ้าง”

ความสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นต้น

[400] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ อเจลกัสสปะทูลถามว่า “ท่านพระ
โคดม สีลสัมปทานั้นเป็นอย่างไร จิตสัมปทานั้นเป็นอย่างไร ปัญญาสัมปทานั้นเป็น
อย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “กัสสปะ ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็น
พระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ ฯลฯ เห็นภัยในโทษแม้เพียงเล็กน้อย
สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบท ประกอบด้วยกายกรรมและวจีกรรมอันเป็นกุศล มี
อาชีวะบริสุทธิ์ สมบูรณ์ด้วยศีล คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย สมบูรณ์ด้วย
สติสัมปชัญญะ(และ)เป็นผู้สันโดษ
[401] ภิกษุชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ละ
เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑาวุธและศัสตราวุธ มีความละอาย มีความเอ็นดู
มุ่งประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่ ข้อนี้จัดเป็นสีลสัมปทาของภิกษุอย่างหนึ่ง ฯลฯ
ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้ ย่อมไม่ประสบภัยอันตรายจากการสำรวมในศีล
เลย เปรียบเหมือนกษัตริย์ผู้ได้รับมูรธาภิเษกเป็นพระราชา กำจัดข้าศึกได้แล้ว ย่อม
ไม่ประสบภัยอันตรายจากข้าศึกเลย ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยอริยสีลขันธ์อย่างนี้ ย่อม
เสวยสุขอันไม่มีโทษในภายใน กัสสปะ ภิกษุชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอย่างนี้แล นี้
แลเป็นสีลสัมปทา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :170 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [8.มหาสีหนาทสูตร]
ว่าด้วยทรงบันลืออย่างองอาจดังพญาราชสีห์

ฯลฯ บรรลุปฐมฌานอยู่ บรรลุทุติยฌานอยู่ บรรลุตติยฌานอยู่ บรรลุ
จตุตถฌานอยู่ นี้แลเป็นจิตสัมปทา
เมื่อมีจิตเป็นสมาธิอย่างนี้ ฯลฯ ภิกษุน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ ฯลฯ1 รู้ชัด
ว่า ... ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป นี้แลเป็นปัญญาสัมปทา
กัสสปะ สีลสัมปทา จิตสัมปทา และปัญญาสัมปทาอย่างอื่นที่ยอดเยี่ยม
กว่าและประณีตกว่าสีลสัมปทา จิตสัมปทา และปัญญาสัมปทานี้ไม่มีอีกแล้ว

ว่าด้วยทรงบันลืออย่างองอาจดังพญาราชสีห์

[402] กัสสปะ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งพูดเรื่องศีล กล่าวสรรเสริญศีล
มากมาย ศีลอันยอดเยี่ยมมีเท่าไร เรายังไม่เห็นผู้จะทัดเทียมเราได้ในเรื่องนั้น จะไป
หาผู้ที่ยิ่งกว่าเราจากไหนเล่า ที่แท้ เราผู้เดียวเป็นผู้ล้ำเลิศในศีลอันยอดเยี่ยม คือ
อธิศีล
กัสสปะ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งพูดเรื่องตบะที่กีดกันกิเลส กล่าวสรรเสริญ
ตบะที่กีดกันกิเลสมากมาย ตบะที่กีดกันกิเลสอย่างยอดเยี่ยมมีเท่าไร เรายังไม่เห็น
ผู้จะทัดเทียมเราได้ในเรื่องนั้น จะไปหาผู้ที่ยิ่งกว่าเราจากไหนเล่า ที่แท้ เราผู้เดียว
เป็นผู้ล้ำเลิศในตบะที่กีดกันกิเลสอันยอดเยี่ยม คืออธิเชคุจฉะ
กัสสปะ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งพูดเรื่องปัญญา กล่าวสรรเสริญปัญญาไว้
มากมาย ปัญญาอันยอดเยี่ยมมีเท่าไร เรายังไม่เห็นผู้จะทัดเทียมเราได้ในเรื่องนั้น
จะไปหาผู้ที่ยิ่งกว่าเราจากไหนเล่า ที่แท้ เราผู้เดียวเป็นผู้ล้ำเลิศในปัญญาอันยอด
เยี่ยม คืออธิปัญญา
กัสสปะ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งพูดเรื่องความหลุดพ้น กล่าวสรรเสริญ
ความหลุดพ้นไว้มากมาย ความหลุดพ้นอันยอดเยี่ยมมีเท่าไร เรายังไม่เห็นผู้จะ
ทัดเทียมเราได้ในเรื่องนั้น จะไปหาผู้ที่ยิ่งกว่าเราจากไหนเล่า ที่แท้ เราผู้เดียวเป็นผู้
ล้ำเลิศในเรื่องความหลุดพ้น คืออธิวิมุตติ

เชิงอรรถ :
1 ดูความเต็มในสามัญญผลสูตร ข้อ 194-249

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :171 }