เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [6.มหาลิสูตร]
สมาธิที่ภิกษุเจริญ(บำเพ็ญ) 2 ส่วน

เฉพาะส่วนเพื่อให้ได้ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัดในทิศ
เบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง แต่ไม่เจริญสมาธิเพื่อให้ได้เห็นรูปทิพย์อันชวน
ให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
[370] มหาลิ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญสมาธิทั้ง 2 ส่วนเพื่อให้ได้เห็นรูป
ทิพย์และให้ได้ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด ในทิศตะวันออก
เมื่อเจริญสมาธิทั้ง 2 ส่วนเพื่อให้ได้เห็นรูปทิพย์และให้ได้ยินเสียงทิพย์ ... ในทิศ
ตะวันออก เธอจึงได้เห็นรูปทิพย์และได้ยินเสียงทิพย์ ... ในทิศตะวันออก ข้อนั้น
เพราะเหตุไร เพราะเธอเจริญสมาธิทั้ง 2 ส่วนเพื่อให้ได้เห็นรูปทิพย์และให้ได้
ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัดในทิศตะวันออก
[371] ยังมีอีก มหาลิ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เจริญสมาธิทั้ง 2 ส่วนเพื่อให้ได้
เห็นรูปทิพย์และให้ได้ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด ในทิศใต้
ฯลฯ ในทิศตะวันตก ฯลฯ ในทิศเหนือ ฯลฯ ในทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง
เมื่อเจริญสมาธิทั้ง 2 ส่วนเพื่อให้ได้เห็นทั้งรูปทิพย์และได้ยินเสียงทิพย์ ... ในทิศ
เบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง เธอจึงได้เห็นรูปทิพย์และได้ยินเสียงทิพย์ ... ใน
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเธอเจริญสมาธิทั้ง 2
ส่วนเพื่อให้ได้เห็นรูปทิพย์และให้ได้ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้
กำหนัด ในทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง
มหาลิ นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้สุนักขัตตะลิจฉวีบุตรไม่ได้ยินเสียงทิพย์อัน
ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด ซึ่งมีอยู่จริง ไม่ใช่ไม่มีนั้น”
[372] เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุประพฤติ
พรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค1 คงจะมุ่งบรรลุสมาธิภาวนาทั้งสองนั้นเป็นแน่”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาลิ ไม่ใช่ภิกษุจะประพฤติพรหมจรรย์ในเราเพียง
เพื่อบรรลุสมาธิภาวนาทั้งสองนี้เท่านั้น แท้จริง ยังมีธรรมอื่นที่ดีกว่าและประณีต
กว่า ที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในเรามุ่งจะบรรลุ”

เชิงอรรถ :
1 คำว่า ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค หมายถึง การบวชประพฤติธรรมในศาสนาของ
พระผู้มีพระภาค

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :155 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [6.มหาลิสูตร] อริยมรรคมีองค์ 8

อริยผล 4

[373] เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมที่ดีกว่า
และประณีตกว่า ที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคมุ่งจะบรรลุนั้นคือ
อะไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มหาลิ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นโสดาบัน เพราะ
ละสังโยชน์1ได้ 3 อย่าง ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิ2 ในวันข้าง
หน้า ธรรมนี้แลดีกว่าและประณีตกว่า ที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในเรามุ่งจะบรรลุ
ยังมีอีก มหาลิ ภิกษุเป็นสกทาคามี เพราะละสังโยชน์ได้ 3 อย่าง บรรเทา
ราคะโทสะและโมหะให้เบาบางได้ มาสู่โลกนี้อีกเพียงครั้งเดียวก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์
ธรรมนี้แลดีกว่าและประณีตกว่า ที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในเรามุ่งจะบรรลุ
ยังมีอีก มหาลิ ภิกษุไปบังเกิดเป็นโอปปาติกะ3 เพราะละสังโยชน์เบื้องต่ำได้ 5
อย่าง ปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก ธรรมนี้แลดีกว่าและ
ประณีตกว่า ที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในเรามุ่งจะบรรลุ
ยังมีอีก มหาลิ ภิกษุทำให้แจ้งเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ
เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ธรรมนี้แลดีกว่าและ
ประณีตกว่า ที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในเรามุ่งจะบรรลุ
มหาลิ ธรรมเหล่านี้แลทั้งดีกว่าและประณีตกว่า ที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ใน
เรามุ่งจะบรรลุ”

อริยมรรคมีองค์ 8

[374] เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีทาง มีข้อ
ปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมเหล่านั้นอยู่หรือ”

เชิงอรรถ :
1 สังโยชน์หมายถึง กิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์, ธรรมที่มัดใจสัตว์ไว้กับทุกข์ มี 10 อย่างคือ สักกายทิฏฐิ , วิจิกิจฉา,
สีลัพพตปรามาส,กามฉันทะหรือกามราคะ, พยาบาทหรือปฏิฆะ, รูปราคะ, อรูปราคะ, มานะ, อุทธัจจะ,
อวิชชา [องฺ.ทสก. 24/13/14]
2 สัมโพธิ ในที่นี้หมายเอา มรรค 3 เบื้องสูง (สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค) [ที.สี.อ.
373/281]
3 เป็นโอปปาติกะ ในที่นี้หมายถึงไปเกิดในสุทธาวาสภพใดภพหนึ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :156 }