เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [5.กูฏทันตสูตร]
พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชายัญด้วยอาการ 16 อย่าง

แม้ในยัญของเจ้าผู้ครองเมืองเป็นต้นเหล่านั้นก็ไม่ต้องฆ่าโค แพะ แกะ ไก่ สุกร
และสัตว์นานาชนิด ไม่ต้องตัดต้นไม้มาทำหลักบูชายัญ ไม่ต้องเกี่ยวหญ้าคาเพื่อ
เบียดเบียนสัตว์อื่น แม้เหล่าชนที่เป็นทาส คนรับใช้ กรรมกรของเจ้าผู้ครองเมือง
เป็นต้นเหล่านั้นก็ไม่ถูกลงอาชญา ไม่มีภัยคุกคาม ไม่ต้องร้องไห้ฟูมฟายทำบริกรรม
แท้จริง คนที่ปรารถนาจะทำจึงได้ทำ ที่ไม่ปรารถนาก็ไม่ต้องทำ ทำแต่สิ่งที่ปรารถนา
เท่านั้น สิ่งที่ไม่ปรารถนาไม่ต้องทำ ยัญพิธีนั้นสำเร็จลงเพียงเพราะเนยใส น้ำมัน
เนยข้น นมเปรี้ยว น้ำผึ้ง และน้ำอ้อยเท่านั้น
บุคคล 4 พวกเห็นชอบตามพระราชดำริ พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงประกอบ
ด้วยคุณลักษณะ 8 อย่าง พราหมณ์ปุโรหิตประกอบด้วยคุณสมบัติ 4 อย่าง และ
ยัญพิธีอีก 3 ประการ จึงรวมเรียกว่า ยัญสมบัติ 3 ประการ มีองค์ประกอบ 16”
[348] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ พวกพราหมณ์ได้ส่งเสียงอื้ออึงว่า
“โอ ! ยัญ โอ ! ยัญสมบัติ” ส่วนพราหมณ์กูฏทันตะนั่งนิ่ง
ทันใดนั้น พวกพราหมณ์ได้ถามพราหมณ์กูฏทันตะว่า “เหตุใด ท่านกูฏทันตะ
จึงไม่ชื่นชมสุภาษิตของพระสมณโคดมว่าเป็นคำกล่าวถูกต้องเล่า”
พราหมณ์กูฏทันตะตอบว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าจะไม่ชื่นชมสุภาษิต
ของพระสมณโคดมว่าเป็นคำกล่าวถูกต้องก็หาไม่ แม้ผู้ไม่ชื่นชมสุภาษิตของพระ
สมณโคดมว่าเป็นคำกล่าวถูกต้อง ศีรษะของเขาจะแตก ถึงกระนั้น ข้าพเจ้าก็ยังรู้สึก
อย่างนี้ว่า พระสมณโคดมไม่ได้ตรัสอย่างนี้ว่า เราได้สดับมาอย่างนี้ หรือว่า เรื่องนี้
ควรเป็นอย่างนี้ แต่พระองค์ตรัสว่า เหตุอย่างนี้ได้เกิดขึ้นแล้วในกาลนั้น เรื่องเช่น
นี้ได้มีแล้วในกาลนั้น ข้าพเจ้าคิดว่า พระสมณโคดมทรงเป็นพระเจ้ามหาวิชิตราช
ผู้เป็นเจ้าของแห่งยัญในครั้งโน้นเสียเอง หรือพระองค์ทรงเป็นพราหมณ์ปุโรหิต
ผู้อำนวยการบูชายัญนั้นแน่นอน” ทูลถามว่า “ท่านพระโคดมย่อมทรงทราบแจ้งชัด
หรือว่า ผู้บูชายัญหรือผู้อำนวยการบูชายัญเห็นปานนั้น หลังจากตายแล้วไปบังเกิด
ในสุคติโลกสวรรค์”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ เรารู้แจ้งชัดว่า ผู้บูชายัญหรือผู้
อำนวยการบูชายัญเห็นปานนั้น หลังจากตายแล้วไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ สมัย
นั้นเราได้(เกิด)เป็นพราหมณ์ปุโรหิตผู้อำนวยการบูชายัญนั้น”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :145 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [5.กูฏทันตสูตร] ยัญที่สืบตระกูลกันมาคือนิตยทาน

ยัญที่สืบตระกูลกันมาคือนิตยทาน

[349] พราหมณ์กูฏทันตะทูลถามว่า “ท่านพระโคดม มียัญอย่างอื่นอีก
หรือไม่ ที่ใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่า
ยัญสมบัติ 3 ประการ มีองค์ประกอบ 16 นี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มีอยู่ พราหมณ์”
เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม ยัญนั้นเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ นิตยทานที่ทำสืบกันมาถวายเจาะ
จงบรรพชิตผู้มีศีล นี้เป็นยัญซึ่งใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มี
ผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ 3 ประการ มีองค์ประกอบ 16 นี้”
เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม อะไรคือเหตุ อะไรคือปัจจัย ให้นิตยทานที่ทำ
สืบกันมาถวายเจาะจงบรรพชิตผู้มีศีล ใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่
มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ 3 ประการ มีองค์ประกอบ 16 นี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ พระอรหันต์หรือท่านที่บรรลุ
อรหัตตมรรคย่อมไม่เข้าไปสู่ยัญเช่นนั้น เพราะในยัญนั้นยังปรากฏว่ามีการประหาร
ด้วยท่อนไม้บ้าง จับคอลากไปบ้าง ฉะนั้นพระอรหันต์หรือท่านที่บรรลุอรหัตตมรรค
จึงไม่เข้าไปสู่ยัญเช่นนั้น ส่วนนิตยทานที่ทำสืบกันมาถวายเจาะจงบรรพชิตผู้มีศีล
นั้น พระอรหันต์หรือท่านที่บรรลุอรหัตตมรรคจึงเข้าไปสู่ยัญเช่นนี้ได้ เพราะใน
ยัญนั้นไม่ปรากฏว่ามีการประหารด้วยท่อนไม้บ้าง จับคอลากไปบ้าง ฉะนั้นพระ
อรหันต์หรือท่านที่บรรลุอรหัตตมรรคจึงเข้าไปสู่ยัญเช่นนี้ นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้
นิตยทานที่ทำสืบกันมานั้น ใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มี
ผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ 3 ประการ มีองค์ประกอบ 16 นี้”
[350] เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม มียัญอย่างอื่นอีกหรือไม่ ที่ใช้
ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ 3 ประการ
มีองค์ประกอบ 16 และกว่านิตยทานที่ทำสืบกันมานี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มีอยู่ พราหมณ์”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :146 }