เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [5.กูฏทันตสูตร]
เรื่องยัญของพระเจ้ามหาวิชิตราช

พระสมณโคดมเสด็จถึงหมู่บ้านขาณุมัตโดยลำดับ ประทับอยู่ที่สวนอัมพลัฏฐิกา
ใกล้หมู่บ้านขาณุมัต ท่านทั้งหลาย สมณพราหมณ์ที่มาสู่เขตหมู่บ้านของเราจัดว่า
เป็นแขกของเรา ซึ่งพวกเราควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา และนอบน้อม พระ
สมณโคดมเสด็จมาถึงหมู่บ้านขาณุมัตโดยลำดับ ประทับอยู่ที่สวนอัมพลัฏฐิกา ใกล้
หมู่บ้านขาณุมัต พระสมณโคดมจึงจัดเป็นแขกของเราที่พวกเราควรสักการะ เคารพ
นับถือ บูชา และนอบน้อม ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ พระสมณโคดมจึงไม่ควรเสด็จมาหาเรา
เราต่างหากควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม เราทราบพระคุณของพระสมณโคดมเพียง
เท่านี้ แต่พระสมณโคดมไม่ใช่ว่าจะมีพระคุณเพียงเท่านี้ แท้จริงแล้ว พระสมณโคดม
มีพระคุณนับประมาณมิได้”
[333] เมื่อพราหมณ์กูฏทันตะกล่าวอย่างนี้ พราหมณ์เหล่านั้นได้กล่าวว่า
“ท่านกูฏทันตะกล่าวยกย่องพระสมณโคดมถึงเพียงนี้ ถึงหากท่านพระโคดมพระองค์
นั้นจะประทับอยู่ไกลจากที่นี่ตั้ง 100 โยชน์ ก็สมควรอยู่ที่กุลบุตรผู้มีศรัทธาจะไปเข้า
เฝ้า แม้จะต้องขนเสบียงไปก็ควร”
พราหมณ์กูฏทันตะกล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้น พวกเราทั้งหมดจักไปเข้าเฝ้าพระ
สมณโคดมด้วยกัน”

เรื่องยัญของพระเจ้ามหาวิชิตราช

[334] ต่อมา พราหมณ์กูฏทันตะพร้อมด้วยคณะพราหมณ์หมู่ใหญ่พากัน
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคที่สวนอัมพลัฏฐิกา ได้สนทนากับพระผู้มีพระภาค ครั้น
สนทนาพอคุ้นเคยดีแล้วจึงนั่งลง ณ ที่สมควร ฝ่ายพราหมณ์และคหบดีชาวบ้าน
ขาณุมัต บางพวกกราบพระผู้มีพระภาค บางพวกสนทนา บางพวกไหว้ไปทางพระ
ผู้มีพระภาค บางพวกประกาศชื่อและตระกูล บางพวกนิ่งเฉย แล้วนั่ง ณ ที่สมควร
[335] พราหมณ์กูฏทันตะนั่งลงกราบทูลว่า “ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าได้ยิน
มาว่า พระสมณโคดมทรงทราบยัญสมบัติ 3 ประการ ซึ่งมีองค์ประกอบ 16 ส่วน
ข้าพเจ้าไม่ทราบ แต่ปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอประทานวโรกาส ขอท่านพระโคดม
โปรดแสดงยัญสมบัติ 3 ประการ ซึ่งมีองค์ประกอบ 16 แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :130 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [5.กูฏทันตสูตร]
เรื่องยัญของพระเจ้ามหาวิชิตราช

[336] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ถ้าเช่นนั้นท่านจงฟัง จงตั้งใจ
ให้ดี เราจะแสดง” พราหมณ์กูฏทันตะทูลรับสนองพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “พราหมณ์ เรื่องเคยมีมาแล้ว พระเจ้ามหาวิชิตราชทรง
เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีพืชพันธุ์ธัญญาหารเต็มท้องพระคลัง ต่อมา
ท้าวเธอประทับอยู่ตามลำพังทรงคิดคำนึงว่า ‘เราได้ถือครองโภคสมบัติที่เป็นของ
มนุษย์อย่างมากมาย ได้เอาชนะแล้วครอบครองดินแดนที่กว้างใหญ่ ทางที่ดีเราพึง
บูชามหายัญที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์สุขแก่เราตลอดกาลนาน’
[337] ท้าวเธอจึงรับสั่งให้เรียกพราหมณ์ปุโรหิตมารับสั่งว่า ‘พราหมณ์ วันนี้
เราพักอยู่ตามลำพังเกิดความคิดคำนึงขึ้นว่า เราได้ถือครองโภคสมบัติที่เป็นของ
มนุษย์อย่างมากมาย ได้เอาชนะแล้วครอบครองดินแดนที่กว้างใหญ่ ทางที่ดี เราพึง
บูชามหายัญที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์สุขแก่เราตลอดกาลนาน พราหมณ์ เรา
ปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอท่านผู้เจริญโปรดแนะนำวิธีบูชายัญที่จะอำนวย
ประโยชน์สุขแก่เราตลอดกาลนาน’
[338] เมื่อท้าวเธอรับสั่งอย่างนี้ พราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลว่า ‘บ้านเมือง
ของพระองค์ยังมีเสี้ยนหนาม มีการเบียดเบียน โจรยังปล้นบ้าน ปล้นนิคม ปล้น
เมืองหลวง ดักจี้ในทางเปลี่ยว เมื่อบ้านเมืองยังมีเสี้ยนหนาม พระองค์จะโปรดให้
ฟื้นฟูพลีกรรมขึ้นก็จะชื่อว่าทรงกระทำสิ่งที่ไม่สมควร พระองค์มีพระราชดำริอย่าง
นี้ว่า ‘เราจักปราบปรามเสี้ยนหนามคือโจร ด้วยการประหาร จองจำ ปรับไหม
ตำหนิโทษ หรือเนรเทศ’ อย่างนี้ไม่ใช่การกำจัดเสี้ยนหนามคือโจรที่ถูกต้อง เพราะ
ว่า โจรที่เหลือจากที่กำจัดไปแล้วจักมาเบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์ในภายหลังได้
แต่การกำจัดเสี้ยนหนามคือโจรที่ถูกต้อง ต้องอาศัยวิธีการต่อไปนี้ คือ
1. ขอให้พระองค์พระราชทานพันธุ์พืชและอาหารให้แก่พลเมืองผู้
ขะมักเขม้นในเกษตรกรรมและการเลี้ยงปศุสัตว์ในบ้านเมืองของ
พระองค์
2. ขอให้พระองค์พระราชทานต้นทุนให้แก่พลเมืองผู้ขะมักเขม้นใน
พาณิชยกรรมในบ้านเมืองของพระองค์
3. ขอให้พระองค์พระราชทานอาหารและเงินเดือนแก่ข้าราชการที่
ขยันขันแข็งในบ้านเมืองของพระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :131 }