เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [5.กูฏทันตสูตร]
เรื่องพราหมณ์และคหบดีชาวบ้านขาณุมัต

[325] ต่อมา พราหมณ์และคหบดีชาวบ้านขาณุมัต ออกจากหมู่บ้าน
ขาณุมัตเดินรวมกันเป็นหมู่ไปยังสวนอัมพลัฏฐิกา
[326] ขณะนั้น พราหมณ์กูฏทันตะพักผ่อนกลางวันอยู่ ณ ปราสาทชั้นบน
มองเห็นพราหมณ์และคหบดีชาวบ้านขาณุมัตออกจากหมู่บ้านขาณุมัต เดินรวมกัน
เป็นหมู่ไปยังสวนอัมพลัฏฐิกา จึงเรียกอำมาตย์ที่ปรึกษามาถามว่า “พ่ออำมาตย์
พราหมณ์และคหบดีชาวบ้านขาณุมัต ออกจากหมู่บ้านขาณุมัต เดินรวมกันเป็นหมู่
ไปยังสวนอัมพลัฏฐิกาทำไมกัน”
[327] อำมาตย์ที่ปรึกษาตอบว่า “ท่านขอรับ พระสมณโคดมเป็นศากยบุตร
เสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล เสด็จจาริกอยู่ในแคว้นมคธพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่ประมาณ 500 รูป เสด็จถึงหมู่บ้านขาณุมัตโดยลำดับ ประทับอยู่ในสวน
อัมพลัฏฐิกาใกล้หมู่บ้านขาณุมัต ท่านพระโคดมนั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่าง
นี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระ
องค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถี
ฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็น
พระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ คนเหล่านั้นพากันไปเข้าเฝ้าท่านพระโคดมนั้น”
[328] ลำดับนั้น พราหมณ์กูฏทันตะคิดว่า ‘เราได้ยินมาว่า พระสมณโคดม
ทรงทราบยัญสมบัติ 3 ประการ มีองค์ประกอบ 16 ส่วนเราไม่รู้เลย แต่ปรารถนา
จะบูชามหายัญ ทางที่ดี เราควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดมแล้วทูลถามยัญสมบัติ 3
ประการ ซึ่งมีองค์ประกอบ 16’
[329] พราหมณ์กูฏทันตะจึงเรียกอำมาตย์ที่ปรึกษามาสั่งว่า “พ่ออำมาตย์
ถ้าอย่างนั้นท่านจงไปหาพราหมณ์และคหบดีชาวบ้านขาณุมัต ครั้นแล้วจงบอกอย่าง
นี้ว่า ท่านขอรับ พราหมณ์กูฏทันตะพูดว่า ขอท่านผู้เจริญทั้งหลายจงรอก่อน
พราหมณ์กูฏทันตะจะไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดมด้วย”
อำมาตย์ที่ปรึกษารับคำของพราหมณ์กูฏทันตะแล้วเข้าไปหาพราหมณ์และ
คหบดีชาวบ้านขาณุมัต ครั้นแล้วก็บอกว่า “ท่านขอรับ พราหมณ์กูฏทันตะพูดว่า ขอ
ท่านผู้เจริญทั้งหลายจงรอก่อน พราหมณ์กูฏทันตะจะไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดมด้วย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :126 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [5.กูฏทันตสูตร]
ความเป็นผู้ดีของพราหมณ์กูฏทันตะ

ความเป็นผู้ดีของพราหมณ์กูฏทันตะ

[330] เวลานั้น พราหมณ์หลายร้อยคนพักอยู่ในหมู่บ้านขาณุมัต เพราะตั้ง
ใจจะบริโภคมหายัญของพราหมณ์กูฏทันตะ พอได้ฟังว่า ‘พราหมณ์กูฏทันตะจักไป
เข้าเฝ้าพระสมณโคดมด้วย’ จึงพากันไปหาพราหมณ์กูฏทันตะ
[331] ครั้นเข้าไปหาแล้วถามว่า “ท่านกูฏทันตะจักไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม
จริงหรือ”
พราหมณ์กูฏทันตะตอบว่า “ใช่ เราคิดจะไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม”
พวกพราหมณ์ห้ามว่า “ท่านกูฏทันตะอย่าได้ไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม
เลย ท่านกูฏทันตะไม่ควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม ถ้าไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม
เกียรติยศของท่านกูฏทันตะจะเสื่อมเสีย เกียรติยศของพระสมณโคดมจะเจริญ
รุ่งเรืองยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ ท่านกูฏทันตะจึงไม่ควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม พระ
สมณโคดมต่างหากควรจะเสด็จมาหาท่านกูฏทันตะ เพราะว่า ท่านกูฏทันตะเป็นผู้มี
ชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดา ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ
ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูล ด้วยเหตุนี้ ท่านกูฏทันตะจึง
ไม่ควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม พระสมณโคดมต่างหากควรจะเสด็จมาหาท่าน
กูฏทันตะ
อนึ่ง ท่านกูฏทันตะเป็นคนมั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีโภคะมาก ฯลฯ เป็นผู้คงแก่
เรียน ทรงจำมนตร์ รู้จบไตรเพทพร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ อักษรศาสตร์
และประวัติศาสตร์ รู้ตัวบทและไวยากรณ์ ชำนาญโลกายตศาสตร์และลักษณะ
มหาบุรุษ ฯลฯ เป็นผู้มีรูปงามน่าดูน่าเลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนักดุจพรหม
มีกายดุจพรหม โอกาสที่จะได้พบเห็นยากนัก ฯลฯ เป็นผู้มีศีล มีศีลที่เจริญ
ประกอบด้วยศีลที่เจริญ ฯลฯ เป็นผู้มีวาจาไพเราะสุภาพ ประกอบด้วยถ้อยคำ
อ่อนหวานอย่างชาวเมือง นุ่มนวล เข้าใจง่าย ฯลฯ เป็นอาจารย์และปาจารย์ของหมู่
ชน สอนมนตร์แก่มาณพ 300 คน เหล่ามาณพผู้ต้องการมนตร์จำนวนมากจาก
ทิศทางต่างชนบท พากันมาเรียนมนตร์ในสำนักของท่านกูฏทันตะ ฯลฯ ท่าน
กูฏทันตะเป็นคนแก่คนเฒ่าเป็นผู้ใหญ่ มีชีวิตอยู่หลายรัชสมัย ล่วงกาลผ่านวัยมา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :127 }