เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [4.โสณทัณฑสูตร]
คุณสมบัติของผู้เป็นพราหมณ์

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ บรรดาคุณสมบัติ 3 อย่างนี้ (หาก)
เว้นเสีย 1 อย่าง พวกพราหมณ์จะเรียกผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติเพียง 2 อย่างว่า
เป็นพราหมณ์ได้หรือไม่ และเมื่อเขาจะพูดว่า ‘เราเป็นพราหมณ์’ ก็พูดได้โดยชอบ
ทั้งไม่เป็นผู้พูดเท็จด้วย ”
พราหมณ์โสณทัณฑะกราบทูลว่า “ได้ ท่านพระโคดม บรรดาคุณสมบัติ 3
อย่าง เว้นชาติกำเนิดเสียอย่างหนึ่งก็ได้ เพราะชาติกำเนิดจักทำอะไรได้ บุคคลชื่อว่า
เป็นพราหมณ์เพราะ
1. เป็นผู้มีศีล มีศีลที่เจริญ ประกอบด้วยศีลที่เจริญ
2. เป็นบัณฑิตมีปัญญาลำดับที่ 1 หรือที่ 2 ในบรรดาพราหมณ์ผู้
รับการบูชา
พวกพราหมณ์จะเรียกผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติ 2 อย่างนี้แลว่าเป็นพราหมณ์
และเมื่อเขาจะพูดว่า ‘เราเป็นพราหมณ์’ ก็พูดได้โดยชอบ ทั้งไม่เป็นผู้พูดเท็จด้วย”
[313] เมื่อพราหมณ์โสณทัณฑะกราบทูลอย่างนี้ พวกพราหมณ์เหล่านั้น
กล่าวว่า “ท่านโสณทัณฑะอย่าพูดอย่างนั้นเลย ท่านโสณทัณฑะอย่าพูดอย่างนั้น
เลย ท่านโสณทัณฑะลบหลู่ผิวพรรณ ลบหลู่มนตร์ ลบหลู่ชาติกำเนิด พูดคล้อย
ตามวาทะของพระสมณโคดมถ่ายเดียวเท่านั้น”
[314] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถ้าพวกท่านคิดว่า ‘พราหมณ์
โสณทัณฑะศึกษามาน้อย พูดไม่เพราะ โง่เขลา และไม่สามารถเจรจาโต้ตอบกับพระ
สมณโคดมได้’ พราหมณ์โสณทัณฑะจงหยุด พวกท่านจงเจรจาโต้ตอบกับเราแทน
แต่หากพวกท่านคิดว่า ‘พราหมณ์โสณทัณฑะศึกษามามาก พูดเพราะ ฉลาด และ
สามารถเจรจาโต้ตอบกับพระสมณโคดมได้’ พวกท่านก็จงหยุด พราหมณ์
โสณทัณฑะจงเจรจาโต้ตอบกับเรา (ต่อไป)”
[315] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ พราหมณ์โสณทัณฑะได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคว่า “ขอท่านพระโคดมทรงหยุดทรงนิ่งเถิด ข้าพระองค์เองจักตอบ
พวกเขาโดยชอบแก่เหตุ” แล้วกล่าวกะพวกพราหมณ์เหล่านั้นว่า “ท่านผู้เจริญ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :120 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [4.โสณทัณฑสูตร] เรื่องศีลและปัญญา

ทั้งหลายอย่าได้พูดอย่าได้กล่าวอย่างนี้เลยว่า ‘ท่านโสณทัณฑะลบหลู่ผิวพรรณ
ลบหลู่มนตร์ ลบหลู่ชาติกำเนิด พูดคล้อยตามวาทะของพระสมณโคดมถ่ายเดียว
เท่านั้น’ แท้จริง เราไม่ได้ลบหลู่ผิวพรรณ มนตร์ หรือชาติกำเนิดเลย”
[316] เวลานั้น อังคกมาณพผู้เป็นหลานของพราหมณ์โสณทัณฑะนั่งอยู่ใน
บริษัทนั้นด้วย ทีนั้น พราหมณ์โสณทัณฑะได้กล่าวกะพราหมณ์เหล่านั้นว่า “ท่าน
ผู้เจริญทั้งหลายเห็นอังคกมาณพหลานของเรานี้หรือไม่” “เห็น ขอรับ” “อังคกมาณพ
เป็นผู้มีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนักดุจพรหม มีกายดุจพรหม
โอกาสที่จะได้เห็นยากนัก ในที่ประชุมนี้นอกจากพระสมณโคดมแล้วไม่มีใครมี
ผิวพรรณเสมอกับอังคกมาณพเลย อังคกมาณพเป็นผู้คงแก่เรียน ทรงจำมนตร์ รู้
จบไตรเพท พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ อักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์
เข้าใจตัวบทและไวยากรณ์ ชำนาญโลกายตศาสตร์และลักษณะมหาบุรุษ เราเป็นผู้
บอกมนตร์แก่เขา อังคกมาณพเป็นผู้มีชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดา ถือ
ปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้างถึง
ชาติตระกูล เรารู้จักบิดามารดาของเขา แต่อังคกมาณพยังฆ่าสัตว์ ถือเอาสิ่งของที่
เจ้าของเขาไม่ให้ ล่วงละเมิดภรรยาของผู้อื่น กล่าวเท็จ ดื่มน้ำเมา ในกรณีอย่างนี้
ผิวพรรณ มนตร์ และชาติกำเนิดจักทำอะไรได้เล่า เพราะบุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์
เพราะเป็นผู้มีศีล มีศีลที่เจริญ ประกอบด้วยศีลที่เจริญ และเป็นบัณฑิต มีปัญญา
ลำดับที่ 1 หรือที่ 2 ในบรรดาพราหมณ์ผู้รับการบูชา พวกพราหมณ์เรียกผู้
ประกอบด้วยคุณสมบัติ 2 อย่างนี้แลว่าเป็นพราหมณ์ และเมื่อเขาจะพูดว่า ‘เรา
เป็นพราหมณ์’ ก็พูดได้โดยชอบ ทั้งไม่เป็นผู้พูดเท็จด้วย”

เรื่องศีลและปัญญา

[317] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ บรรดาคุณสมบัติ 2 อย่างนี้
(หาก)เว้นเสีย 1 อย่าง พวกพราหมณ์จะเรียกผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติเพียง
อย่างเดียวว่าเป็นพราหมณ์ได้หรือไม่ และเมื่อเขาจะพูดว่า ‘เราเป็นพราหมณ์’ ก็พูด
ได้โดยชอบ ทั้งไม่เป็นผู้พูดเท็จด้วย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :121 }