เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [4.โสณทัณฑสูตร]
คุณสมบัติของผู้เป็นพราหมณ์

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ บรรดาคุณสมบัติ 3 อย่างนี้ (หาก)
เว้นเสีย 1 อย่าง พวกพราหมณ์จะเรียกผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติเพียง 2 อย่างว่า
เป็นพราหมณ์ได้หรือไม่ และเมื่อเขาจะพูดว่า ‘เราเป็นพราหมณ์’ ก็พูดได้โดยชอบ
ทั้งไม่เป็นผู้พูดเท็จด้วย ”
พราหมณ์โสณทัณฑะกราบทูลว่า “ได้ ท่านพระโคดม บรรดาคุณสมบัติ 3
อย่าง เว้นชาติกำเนิดเสียอย่างหนึ่งก็ได้ เพราะชาติกำเนิดจักทำอะไรได้ บุคคลชื่อว่า
เป็นพราหมณ์เพราะ
1. เป็นผู้มีศีล มีศีลที่เจริญ ประกอบด้วยศีลที่เจริญ
2. เป็นบัณฑิตมีปัญญาลำดับที่ 1 หรือที่ 2 ในบรรดาพราหมณ์ผู้
รับการบูชา
พวกพราหมณ์จะเรียกผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติ 2 อย่างนี้แลว่าเป็นพราหมณ์
และเมื่อเขาจะพูดว่า ‘เราเป็นพราหมณ์’ ก็พูดได้โดยชอบ ทั้งไม่เป็นผู้พูดเท็จด้วย”
[313] เมื่อพราหมณ์โสณทัณฑะกราบทูลอย่างนี้ พวกพราหมณ์เหล่านั้น
กล่าวว่า “ท่านโสณทัณฑะอย่าพูดอย่างนั้นเลย ท่านโสณทัณฑะอย่าพูดอย่างนั้น
เลย ท่านโสณทัณฑะลบหลู่ผิวพรรณ ลบหลู่มนตร์ ลบหลู่ชาติกำเนิด พูดคล้อย
ตามวาทะของพระสมณโคดมถ่ายเดียวเท่านั้น”
[314] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถ้าพวกท่านคิดว่า ‘พราหมณ์
โสณทัณฑะศึกษามาน้อย พูดไม่เพราะ โง่เขลา และไม่สามารถเจรจาโต้ตอบกับพระ
สมณโคดมได้’ พราหมณ์โสณทัณฑะจงหยุด พวกท่านจงเจรจาโต้ตอบกับเราแทน
แต่หากพวกท่านคิดว่า ‘พราหมณ์โสณทัณฑะศึกษามามาก พูดเพราะ ฉลาด และ
สามารถเจรจาโต้ตอบกับพระสมณโคดมได้’ พวกท่านก็จงหยุด พราหมณ์
โสณทัณฑะจงเจรจาโต้ตอบกับเรา (ต่อไป)”
[315] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ พราหมณ์โสณทัณฑะได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคว่า “ขอท่านพระโคดมทรงหยุดทรงนิ่งเถิด ข้าพระองค์เองจักตอบ
พวกเขาโดยชอบแก่เหตุ” แล้วกล่าวกะพวกพราหมณ์เหล่านั้นว่า “ท่านผู้เจริญ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :120 }