เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [4.โสณทัณฑสูตร] ข้อบัญญัติว่าเป็นพราหมณ์

ฝ่ายพราหมณ์และคหบดีชาวกรุงจัมปา บางพวกกราบพระผู้มีพระภาค บางพวก
สนทนา บางพวกไหว้ไปทางพระผู้มีพระภาค บางพวกประกาศชื่อและตระกูล บาง
พวกนิ่งเฉยแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
[308] ขณะนั้น พราหมณ์โสณทัณฑะนั่งวิตกถึงแต่เรื่องนี้ว่า ‘ถ้าเราจะถาม
ปัญหากับพระสมณโคดม หากพระสมณโคดมตรัสอย่างนี้ว่า พราหมณ์ ปัญหาข้อ
นี้ท่านไม่ควรถามอย่างนี้ ที่ถูก ควรจะถามอย่างนี้ บริษัทก็จะดูหมิ่นเราเพราะเหตุ
นั้นว่า พราหมณ์โสณทัณฑะโง่เขลา ไม่อาจแยกแยะตั้งคำถามกับพระสมณโคดมได้
ผู้ถูกบริษัทดูหมิ่นจะพึงเสื่อมยศ ผู้เสื่อมยศก็จะเสื่อมโภคสมบัติ เพราะมียศเราจึงมี
โภคสมบัติ ถ้าพระสมณโคดมจะถามปัญหากับเรา และเราตอบไม่ถูกพระทัยของ
พระสมณโคดม หากพระสมณโคดมจะตรัสอย่างนี้ว่า พราหมณ์ ปัญหาข้อนี้ท่าน
ไม่ควรตอบอย่างนี้ ที่ถูก ควรตอบอย่างนี้ บริษัทก็จะดูหมิ่นเราเพราะเหตุนั้นว่า
พราหมณ์โสณทัณฑะโง่เขลา ไม่อาจตอบปัญหาให้ถูกพระทัยของพระสมณโคดมได้
ผู้ถูกบริษัทดูหมิ่นจะพึงเสื่อมยศ ผู้เสื่อมยศก็จะเสื่อมโภคสมบัติ เพราะมียศเราจึงมี
โภคสมบัติ โอหนอ ขอให้พระสมณโคดมตรัสถามปัญหากับเราเรื่องไตรเพทอันเป็น
ความรู้ของอาจารย์เรา เราจะตอบให้ถูกพระทัยของพระสมณโคดมได้’

ข้อบัญญัติว่าเป็นพราหมณ์

[309] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความคิดคำนึงของเขาด้วยพระทัย
ทรงพระดำริว่า ‘พราหมณ์โสณทัณฑะนี้กำลังอึดอัดใจ เราควรถามปัญหากับเขาใน
เรื่องไตรเพทอันเป็นความรู้ของอาจารย์เขา’ จึงได้ตรัสถามเขาว่า “พราหมณ์ พวก
พราหมณ์จะเรียกผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติเท่าไรว่าเป็นพราหมณ์ และเมื่อเขาจะพูด
ว่า ‘เราเป็นพราหมณ์’ ก็พูดได้โดยชอบ ทั้งไม่เป็นผู้พูดเท็จด้วย”
[310] พราหมณ์โสณทัณฑะคิดว่า ‘เราปรารถนา มุ่งหวัง ตั้งใจ ต้องการว่า
โอหนอ ขอให้พระสมณโคดมตรัสถามปัญหากับเราในเรื่องไตรเพทอันเป็นความ
รู้ของอาจารย์เรา เราจะตอบให้ถูกพระทัยของพระสมณโคดมได้ เผอิญที่พระ
สมณโคดมตรัสถามปัญหากับเราในเรื่องไตรเพท อันเป็นความรู้ของอาจารย์เรา เรา
จะตอบให้ถูกพระทัยของพระสมณโคดมได้แน่’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :117 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [4.โสณทัณฑสูตร]
คุณสมบัติของผู้เป็นพราหมณ์

คุณสมบัติของผู้เป็นพราหมณ์

[311] ทันใดนั้น พราหมณ์โสณทัณฑะยืดกายขึ้นเหลียวดูบริษัทแล้ว
กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ท่านพระโคดม พวกพราหมณ์จะเรียกผู้ประกอบด้วย
คุณสมบัติ 5 อย่างว่าเป็นพราหมณ์ และเมื่อเขาจะพูดว่า ‘เราเป็นพราหมณ์’ ก็
พูดได้โดยชอบ ทั้งไม่เป็นผู้พูดเท็จด้วย คุณสมบัติ 5 อย่าง อะไรบ้าง คือ
1. เป็นผู้มีชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดา ถือปฏิสนธิ
บริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้
เพราะอ้างถึงชาติตระกูล
2. เป็นผู้คงแก่เรียน ทรงจำมนตร์ รู้จบไตรเพทพร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์
เกฏุภศาสตร์ อักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์ เข้าใจตัวบทและ
ไวยากรณ์ ชำนาญโลกายตศาสตร์และลักษณะมหาบุรุษ1
3. เป็นผู้มีรูปงามน่าดูน่าเลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนักดุจพรหม
มีกายดุจพรหม โอกาสที่จะได้พบเห็นยากนัก
4. เป็นผู้มีศีล มีศีลที่เจริญ ประกอบด้วยศีลที่เจริญ
5. เป็นบัณฑิตมีปัญญาลำดับที่ 1 หรือที่ 2 ในบรรดาพราหมณ์ผู้
รับการบูชา
พวกพราหมณ์จะเรียกผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติ 5 อย่างนี้แลว่าเป็นพราหมณ์
และเมื่อเขาจะพูดว่า ‘เราเป็นพราหมณ์’ ก็พูดได้โดยชอบ ทั้งไม่เป็นผู้พูดเท็จด้วย”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ บรรดาคุณสมบัติ 5 อย่างนี้ (หาก)เว้นเสีย
1 อย่าง พวกพราหมณ์จะเรียกผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติเพียง 4 อย่างว่าเป็น
พราหมณ์ได้หรือไม่ และเมื่อเขาจะพูดว่า ‘เราเป็นพราหมณ์’ ก็พูดได้โดยชอบ ทั้ง
ไม่เป็นผู้พูดเท็จด้วย”
พราหมณ์โสณทัณฑะกราบทูลว่า “ได้ ท่านพระโคดม บรรดาคุณสมบัติ 5
อย่าง เว้นผิวพรรณเสียอย่างหนึ่งก็ได้ เพราะผิวพรรณจักทำอะไรได้ บุคคลชื่อว่าเป็น
พราหมณ์เพราะ

เชิงอรรถ :
1 ดูเชิงอรรถ 2 และ 3 ในหน้า 88

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :118 }