เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [4.โสณทัณฑสูตร]
ความคำนึงของพราหมณ์โสณทัณฑะ

[305] เมื่อพราหมณ์โสณทัณฑะกล่าวอย่างนี้ พราหมณ์เหล่านั้นได้กล่าวว่า
“ท่านโสณทัณฑะกล่าวยกย่องพระสมณโคดมถึงเพียงนี้ ถึงหากท่านพระโคดม
พระองค์นั้นจะประทับอยู่ไกลจากที่นี่ตั้ง 100 โยชน์ ก็สมควรอยู่ที่กุลบุตรผู้มีศรัทธา
จะไปเข้าเฝ้า แม้จะต้องขนเสบียงไปก็ควร”
พราหมณ์โสณทัณฑะกล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้น พวกเราทั้งหมดจักไปเข้าเฝ้าพระ
สมณโคดมด้วยกัน”

ความคิดคำนึงของพราหมณ์โสณทัณฑะ

[306] ต่อมา พราหมณ์โสณทัณฑะพร้อมด้วยคณะพราหมณ์หมู่ใหญ่เข้าไป
ถึงสระโบกขรณีคัคครา เมื่อผ่านราวป่าไป เขาเกิดความคิดคำนึงว่า ‘ถ้าเราจะถาม
ปัญหากับพระสมณโคดม หากพระสมณโคดมตรัสอย่างนี้ว่า พราหมณ์ ปัญหาข้อนี้
ท่านไม่ควรถามอย่างนี้ ที่ถูก ควรจะถามอย่างนี้ บริษัทก็จะดูหมิ่นเราเพราะเหตุนั้น
ว่า พราหมณ์โสณทัณฑะโง่เขลา ไม่อาจแยกแยะตั้งคำถามกับพระสมณโคดมได้ ผู้
ถูกบริษัทดูหมิ่นจะพึงเสื่อมยศ ผู้เสื่อมยศก็จะเสื่อมโภคสมบัติ เพราะมียศเราจึงมี
โภคสมบัติ ถ้าพระสมณโคดมจะถามปัญหากับเรา และเราตอบไม่ถูกพระทัยของ
พระสมณโคดม หากพระสมณโคดมจะตรัสอย่างนี้ว่า พราหมณ์ ปัญหาข้อนี้ท่านไม่
ควรตอบอย่างนี้ ที่ถูก ควรตอบอย่างนี้ บริษัทก็จะดูหมิ่นเราเพราะเหตุนั้นว่า
พราหมณ์โสณทัณฑะโง่เขลา ไม่อาจตอบปัญหาให้ถูกพระทัยของพระสมณโคดมได้
ผู้ถูกบริษัทดูหมิ่นจะพึงเสื่อมยศ ผู้เสื่อมยศก็จะเสื่อมโภคสมบัติ เพราะมียศเราจึงมี
โภคสมบัติ อนึ่ง เราเข้ามาใกล้ถึงเพียงนี้แล้ว ยังไม่ทันได้เฝ้าเลย แต่คิดจะกลับ
บริษัทก็จะดูหมิ่นเราเพราะเหตุนั้นว่า พราหมณ์โสณทัณฑะโง่เขลา ถือตัวมาก
ขลาดกลัว ไม่อาจเข้าเฝ้าพระสมณโคดมได้ เข้ามาใกล้ถึงเพียงนี้แล้ว ยังไม่ทันได้เฝ้า
เลย ไฉนจึงกลับเสียเล่า ผู้ถูกบริษัทดูหมิ่นจะพึงเสื่อมยศ ผู้เสื่อมยศก็จะเสื่อม
โภคสมบัติ เพราะมียศ เราจึงมีโภคสมบัติ’
[307] ลำดับนั้น พราหมณ์โสณทัณฑะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ได้สนทนากับพระผู้มีพระภาค ครั้นสนทนาพอคุ้นเคยกันดีแล้วจึงนั่งลง ณ ที่สมควร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :116 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [4.โสณทัณฑสูตร] ข้อบัญญัติว่าเป็นพราหมณ์

ฝ่ายพราหมณ์และคหบดีชาวกรุงจัมปา บางพวกกราบพระผู้มีพระภาค บางพวก
สนทนา บางพวกไหว้ไปทางพระผู้มีพระภาค บางพวกประกาศชื่อและตระกูล บาง
พวกนิ่งเฉยแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
[308] ขณะนั้น พราหมณ์โสณทัณฑะนั่งวิตกถึงแต่เรื่องนี้ว่า ‘ถ้าเราจะถาม
ปัญหากับพระสมณโคดม หากพระสมณโคดมตรัสอย่างนี้ว่า พราหมณ์ ปัญหาข้อ
นี้ท่านไม่ควรถามอย่างนี้ ที่ถูก ควรจะถามอย่างนี้ บริษัทก็จะดูหมิ่นเราเพราะเหตุ
นั้นว่า พราหมณ์โสณทัณฑะโง่เขลา ไม่อาจแยกแยะตั้งคำถามกับพระสมณโคดมได้
ผู้ถูกบริษัทดูหมิ่นจะพึงเสื่อมยศ ผู้เสื่อมยศก็จะเสื่อมโภคสมบัติ เพราะมียศเราจึงมี
โภคสมบัติ ถ้าพระสมณโคดมจะถามปัญหากับเรา และเราตอบไม่ถูกพระทัยของ
พระสมณโคดม หากพระสมณโคดมจะตรัสอย่างนี้ว่า พราหมณ์ ปัญหาข้อนี้ท่าน
ไม่ควรตอบอย่างนี้ ที่ถูก ควรตอบอย่างนี้ บริษัทก็จะดูหมิ่นเราเพราะเหตุนั้นว่า
พราหมณ์โสณทัณฑะโง่เขลา ไม่อาจตอบปัญหาให้ถูกพระทัยของพระสมณโคดมได้
ผู้ถูกบริษัทดูหมิ่นจะพึงเสื่อมยศ ผู้เสื่อมยศก็จะเสื่อมโภคสมบัติ เพราะมียศเราจึงมี
โภคสมบัติ โอหนอ ขอให้พระสมณโคดมตรัสถามปัญหากับเราเรื่องไตรเพทอันเป็น
ความรู้ของอาจารย์เรา เราจะตอบให้ถูกพระทัยของพระสมณโคดมได้’

ข้อบัญญัติว่าเป็นพราหมณ์

[309] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความคิดคำนึงของเขาด้วยพระทัย
ทรงพระดำริว่า ‘พราหมณ์โสณทัณฑะนี้กำลังอึดอัดใจ เราควรถามปัญหากับเขาใน
เรื่องไตรเพทอันเป็นความรู้ของอาจารย์เขา’ จึงได้ตรัสถามเขาว่า “พราหมณ์ พวก
พราหมณ์จะเรียกผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติเท่าไรว่าเป็นพราหมณ์ และเมื่อเขาจะพูด
ว่า ‘เราเป็นพราหมณ์’ ก็พูดได้โดยชอบ ทั้งไม่เป็นผู้พูดเท็จด้วย”
[310] พราหมณ์โสณทัณฑะคิดว่า ‘เราปรารถนา มุ่งหวัง ตั้งใจ ต้องการว่า
โอหนอ ขอให้พระสมณโคดมตรัสถามปัญหากับเราในเรื่องไตรเพทอันเป็นความ
รู้ของอาจารย์เรา เราจะตอบให้ถูกพระทัยของพระสมณโคดมได้ เผอิญที่พระ
สมณโคดมตรัสถามปัญหากับเราในเรื่องไตรเพท อันเป็นความรู้ของอาจารย์เรา เรา
จะตอบให้ถูกพระทัยของพระสมณโคดมได้แน่’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :117 }