เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [1.พรหมชาลสูตร] ทิฏฐิ 62 สัสสตวาทะ 4

ทิฏฐิ 62
ปุพพันตกัปปิกวาทะ 18
ความเห็นกำหนดขันธ์ส่วนอดีต

[28] ภิกษุทั้งหลาย มีธรรมเหล่าอื่นอีกที่ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก
สงบประณีต ใช้เหตุผลคาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ซึ่งตถาคต1 รู้
แจ้งได้เองแล้วสั่งสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งตามอันเป็นเหตุให้คนกล่าวยกย่องตถาคตถูกต้อง
ตามความเป็นจริง ก็ธรรมที่ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก ... อันเป็นเหตุให้คน
กล่าวยกย่องตถาคตตามความเป็นจริง คืออะไรบ้าง
[29] ภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์2พวกหนึ่งกำหนดขันธ์ส่วนอดีต มี
ความเห็นคล้อยตามขันธ์ส่วนอดีต ปรารภขันธ์ส่วนอดีต ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิ
ต่าง ๆ ด้วยมูลเหตุ 18 อย่าง ก็สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นอาศัยอะไรปรารภ
อะไรจึงกำหนดขันธ์ส่วนอดีต มีความเห็นคล้อยตามขันธ์ส่วนอดีต ปรารภขันธ์ส่วน
อดีต ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิต่าง ๆ ด้วยมูลเหตุ 18 อย่าง

สัสสตวาทะ 4
เห็นว่าอัตตาและโลกเที่ยง

[30] ภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะว่าเที่ยง บัญญัติอัตตา3
และโลกว่าเที่ยงด้วยมูลเหตุ 4 อย่าง ก็สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นอาศัยอะไร
ปรารภอะไรจึงมีวาทะว่าเที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยงด้วยมูลเหตุ 4 อย่าง

มูลเหตุที่ 1

[31] 1. สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส
ความเพียรที่ตั้งมั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่ประมาท และอาศัยการใช้ความคิด

เชิงอรรถ :
1 คำว่า ตถาคต ในที่นี้ เป็นคำที่พระพุทธเจ้าตรัสหมายถึงพระองค์เอง แทนคำว่า “เรา” (อุตตมบุรุษ)
2 เป็นคำเรียกพราหมณ์พวกหนึ่งที่เป็นสมณะ ชื่อว่าเป็นสมณะโดยการบวช และชื่อว่าเป็นพราหมณ์โดย
ชาติกำเนิด (ที.สี.อ. 29/95 )
3 อัตตาในที่นี้หมายถึง วิญญาณอมตะหรืออาตมัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :11 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [1.พรหมชาลสูตร] ทิฏฐิ 62 สัสสตวาทะ 4

อย่างถูกวิธีแล้วบรรลุเจโตสมาธิ1 ที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น (บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มี
กิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง) ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ
1 ชาติบ้าง 2 ชาติบ้าง 3 ชาติบ้าง 4 ชาติบ้าง 5 ชาติบ้าง 10 ชาติบ้าง 20
ชาติบ้าง 30 ชาติบ้าง 40 ชาติบ้าง 50 ชาติบ้าง 100 ชาติบ้าง 1,000 ชาติบ้าง
100,000 ชาติบ้าง หลายร้อยชาติบ้าง หลายพันชาติบ้าง หลายแสนชาติบ้าง ว่า
‘ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุ
อย่างนั้น ๆ จุติ(เคลื่อน)จากภพนั้นก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้นเราก็ได้มีชื่ออย่าง
นั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้น
จึงมาเกิดในภพนี้’ เขาระลึกชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและ
ชีวประวัติอย่างนี้
เขาจึงพูดอย่างนี้ว่า ‘อัตตาและโลกเที่ยง ยั่งยืน ตั้งมั่นอยู่ดุจยอดภูเขาดุจ
เสาระเนียด ส่วนสัตว์เหล่านั้นย่อมแล่นไป ท่องเที่ยวไป จุติและเกิด แต่มีสิ่งที่เที่ยง
อยู่แน่ เพราะเหตุอะไร เพราะว่าเราอาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส ความเพียรที่
ตั้งมั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่ประมาท และอาศัยการใช้ความคิดอย่างถูกวิธี
แล้วบรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ 1 ชาติ
บ้าง 2 ชาติบ้าง 3 ชาติบ้าง 4 ชาติบ้าง 5 ชาติบ้าง 10 ชาติบ้าง 20 ชาติ
บ้าง 30 ชาติบ้าง 40 ชาติบ้าง 50 ชาติบ้าง 100 ชาติบ้าง 1,000 ชาติบ้าง
100,000 ชาติบ้าง หลายร้อยชาติบ้าง หลายพันชาติบ้าง หลายแสนชาติบ้าง ว่า
‘ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุ
อย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้นเราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มี
ตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นจึงมา
เกิดในภพนี้ เราระลึกชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติ
อย่างนี้ เพราะการได้บรรลุคุณวิเศษนี้ เราจึงรู้อาการที่อัตตาและโลกเที่ยง ยั่งยืน
ตั้งมั่นอยู่ดุจยอดภูเขาดุจเสาระเนียด ส่วนสัตว์เหล่านั้นย่อมแล่นไป ท่องเที่ยวไป จุติ
และเกิด แต่มีสิ่งที่เที่ยงอยู่แน่’

เชิงอรรถ :
1 สมาธิแห่งจิต คือสมาธิในรูปาวจรจตุตถฌาน (ที.สี.อ. 31/97)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :12 }