เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [3.อัมพัฏฐสูตร]
ทางเสื่อม 4 ประการแห่งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติ

เขากราบทูลว่า “ไม่ปรากฏมีเลย ท่านพระโคดม ข้าพเจ้ากับอาจารย์ปฏิบัติไป
ทางหนึ่ง วิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนั้นอยู่อีกทางหนึ่ง ข้าพเจ้ากับ
อาจารย์ยังอยู่ห่างไกลจากวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อัมพัฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เธอกับ
อาจารย์เมื่อยังไม่บรรลุวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้ ก็หาบหิ้วบริขาร
ดาบสเข้าไปสู่ราวป่าด้วยตั้งใจว่าจักบริโภคผลไม้หล่น อย่างนั้นหรือ”
“ไม่เป็นอย่างนั้นเลย ท่านพระโคดม”
“อัมพัฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เธอกับอาจารย์เมื่อยังไม่บรรลุวิชชา-
สมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้ ทั้งไม่สามารถจะหาผลไม้ที่หล่นบริโภคได้ ก็
ถือเสียมและตะกร้าเข้าไปสู่ราวป่าด้วยตั้งใจว่า จักบริโภคเหง้า ราก และผลไม้ อย่าง
นั้นหรือ”
“ไม่เป็นอย่างนั้นเลย ท่านพระโคดม”
“อัมพัฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เธอกับอาจารย์เมื่อยังไม่บรรลุวิชชา
สมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้ ไม่สามารถจะหาผลไม้ที่หล่นบริโภคได้ ทั้งไม่
สามารถจะหาเหง้า ราก และผลไม้บริโภคได้ ก็สร้างเรือนไฟไว้ใกล้บ้านหรือนิคม
แล้วบูชาไฟ อย่างนั้นหรือ”
“ไม่เป็นอย่างนั้นเลย ท่านพระโคดม”
“อัมพัฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เธอกับอาจารย์เมื่อยังไม่บรรลุวิชชา
สมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้ ไม่สามารถจะหาผลไม้ที่หล่นบริโภคได้ ไม่
สามารถจะหาเหง้า ราก และผลไม้บริโภคได้ ทั้งไม่สามารถจะบูชาไฟได้ ก็สร้างเรือน
มีประตู 4 ด้านไว้ที่หนทางใหญ่สี่แพร่งแล้วพักอยู่ด้วยตั้งใจว่า เราจะบูชาท่านผู้ที่
เดินทางมาจากทิศทั้ง 4 ตามสติกำลัง ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นสมณะหรือพราหมณ์ก็ตาม
อย่างนั้นหรือ”
“ไม่เป็นอย่างนั้นเลย ท่านพระโคดม”
[282] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัมพัฏฐะ เธอกับอาจารย์เสื่อมจากวิชชา-
สมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้แล้ว และยังเสื่อมเพราะมีทางเสื่อม 4 ประการ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :103 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [3.อัมพัฏฐสูตร] ฤๅษีผู้เป็นบูรพาจารย์

แห่งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้ด้วย ก็พราหมณ์โปกขรสาติผู้
เป็นอาจารย์ของเธอได้พูดว่า ‘สมณะโล้นบางเหล่าเป็นคนรับใช้ เป็นคนวรรณะ
ต่ำ(กัณหโคตร) เกิดจากพระบาทของท้าวมหาพรหม ไม่มีประโยชน์เลยที่พวก
พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทจะสนทนาด้วย ๋ ตนเองก็ตกอยู่ในความเสื่อม บำเพ็ญวิชชา-
สมบัติและจรณสมบัติให้บริบูรณ์ไม่ได้ อัมพัฏฐะ เธอจงดูความผิดของพราหมณ์
โปกขรสาติผู้เป็นอาจารย์ของเธอว่ามีเพียงไร

ฤๅษีผู้เป็นบูรพาจารย์

[283] อัมพัฏฐะ ถึงพราหมณ์โปกขรสาติปกครองเมืองที่พระเจ้าปเสนทิ-
โกศลพระราชทานให้ พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ยังไม่โปรดให้เขาเข้าเฝ้าเฉพาะพระพักตร์
เวลาจะทรงปรึกษาก็ทรงปรึกษานอกพระวิสูตร ทำไม ท้าวเธอจึงไม่โปรดให้เขาเข้า
เฝ้าเฉพาะพระพักตร์ ทั้ง ๆ ที่เขาได้รับพระราชทานภิกษาหารอันชอบธรรมเล่า อัมพัฏฐะ
เธอจงดูความผิดของพราหมณ์โปกขรสาติผู้เป็นอาจารย์ของเธอว่ามีเพียงไร
[284] อัมพัฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงช้าง
ทรงม้าหรือประทับอยู่บนรถพระที่นั่ง จะทรงปรึกษาราชกิจบางเรื่องกับมหาอำมาตย์
หรือพระบรมวงศานุวงศ์แล้วเสด็จจากที่นั้นไปประทับ ณ ที่แห่งหนึ่ง ต่อมา ศูทร
หรือจัณฑาลพึงมายืนปรึกษาอย่างเดียวกัน ณ ที่นั้นว่า ‘พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสอย่าง
นี้ ๆ’ เขาเพียงพูดได้เหมือนที่พระราชาตรัสหรือปรึกษาได้เหมือนอย่างที่พระราชาทรง
ปรึกษา ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ จะจัดว่าเขาเป็นพระราชาหรือราชอำมาตย์ได้หรือไม่”
เขากราบทูลว่า “ไม่ได้เลย ท่านพระโคดม”
[285] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัมพัฏฐะ เธอก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน
พวกฤๅษีผู้เป็นบูรพาจารย์ของพราหมณ์ คือ ฤๅษีอัฏฐกะ ฤๅษีวามกะ ฤๅษี
วามเทวะ ฤๅษีเวสสามิตร ฤๅษียมตัคคิ ฤๅษีอังคีรส ฤๅษีภารัทวาชะ ฤๅษีวาเสฏฐะ
ฤๅษีกัสสปะ ฤๅษีภคุ ซึ่งเป็นผู้ผูกมนตร์บอกมนตร์ที่พวกพราหมณ์ในเวลานี้ขับ
ตามกล่อมตามซึ่งบทมนตร์เก่าที่ท่านขับไว้กล่อมไว้ รวบรวมไว้ กล่าวได้ถูกต้องตาม
ที่ท่านกล่าวไว้ บอกได้ถูกต้องตามที่ท่านบอกไว้ เพียงคิดว่า ‘เรากับอาจารย์เรียน
มนตร์ของท่านเหล่านั้น’ เธอจักได้ชื่อว่าเป็นฤๅษีหรือผู้ปฏิบัติเพื่อเป็นฤๅษีเพราะเหตุ
เพียงเท่านั้น นั่นไม่ใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :104 }