เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [3.อัมพัฏฐสูตร]
ทางเสื่อม 4 ประการแห่งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติ

(2) อีกอย่างหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ เมื่อยังไม่
บรรลุวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้ ทั้งไม่สามารถจะ
หาผลไม้ที่หล่นบริโภคได้ จึงถือเสียมและตะกร้าเข้าไปสู่ราวป่า
ด้วยตั้งใจว่าจักบริโภคเหง้า ราก และผลไม้ เขาต้องเป็นคนรับใช้
ของท่านที่เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะโดยแท้ ข้อนี้เป็นทาง
เสื่อมประการที่ 2 แห่งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยม
(3) อีกอย่างหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ เมื่อยังไม่
บรรลุวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้ ไม่สามารถจะ
หาผลไม้ที่หล่นบริโภคได้ ทั้งไม่สามารถจะหาเหง้า ราก และผลไม้
บริโภคได้ จึงสร้างเรือนไฟไว้ใกล้บ้านหรือนิคมแล้วบูชาไฟอยู่
เขาต้องเป็นคนรับใช้ของท่านที่เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
โดยแท้ ข้อนี้เป็นทางเสื่อมประการที่ 3 แห่งวิชชาสมบัติและ
จรณสมบัติอันยอดเยี่ยม
(4) อีกอย่างหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ เมื่อยังไม่
บรรลุวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้ ไม่สามารถจะ
หาผลไม้ที่หล่นบริโภคได้ ไม่สามารถหาเหง้า ราก และผลไม้
บริโภคได้ ทั้งไม่สามารถจะบูชาไฟได้ จึงสร้างเรือนมีประตู 4
ด้านไว้ที่หนทางใหญ่สี่แพร่งแล้วพักอยู่ด้วยตั้งใจว่า เราจะบูชา
ท่านผู้ที่เดินทางมาจากทิศทั้ง 4 ตามสติกำลัง ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็น
สมณะหรือพราหมณ์ก็ตาม เขาต้องเป็นคนรับใช้ของท่านที่เพียบ
พร้อมด้วยวิชชาและจรณะโดยแท้ ข้อนี้เป็นทางเสื่อมประการที่
4 แห่งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยม
อัมพัฏฐะ วิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมมีทางเสื่อมอยู่ 4 ประการ
นี้แล
[281] อัมพัฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เธอกับอาจารย์ย่อมปรากฏมี
ในวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้บ้างหรือไม่”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :102 }