เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [3.อัมพัฏฐสูตร]
ทางเสื่อม 4 ประการแห่งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติ

ยังมีอีก อัมพัฏฐะ เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ
เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้มีอุเบกขา
มีสติ อยู่เป็นสุข ฯลฯ ข้อนี้จัดเป็นจรณะอย่างหนึ่งของภิกษุนั้น
ยังมีอีก อัมพัฏฐะ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อน
แล้ว ภิกษุบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ ฯลฯ
ข้อนี้จัดเป็นจรณะอย่างหนึ่งของภิกษุนั้น
เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้า
หมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อมจิตไปเพื่อ
ญาณทัสสนะ ฯลฯ ข้อนี้จัดเป็นวิชชาอย่างหนึ่งของภิกษุนั้น
ฯลฯ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่
มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป ข้อนี้จัดเป็นวิชชาอย่างหนึ่งของภิกษุนั้น1
อัมพัฏฐะ ที่แสดงมาทั้งหมดนี้ จัดเป็นวิชชา
อัมพัฏฐะ ภิกษุผู้ปฏิบัติเช่นนี้เรียกว่า ผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชาบ้าง ว่า ผู้
เพียบพร้อมด้วยจรณะบ้าง ว่า ผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะบ้าง อัมพัฏฐะ
วิชชาสมบัติและจรณสมบัติอย่างอื่นซึ่งเหนือกว่าและประณีตกว่าวิชชาสมบัติและ
จรณสมบัตินี้ไม่มีอีกแล้ว

ทางเสื่อม 4 ประการแห่งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติ

[280] อัมพัฏฐะ วิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้มีทางเสื่อมอยู่
4 ประการ 4 ประการอะไรบ้าง คือ
(1) สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ เมื่อยังไม่บรรลุวิชชาสมบัติ
และจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้ จึงหาบหิ้วบริขารดาบสเข้าไปสู่
ราวป่าด้วยตั้งใจว่าจักบริโภคผลไม้หล่น เขาต้องเป็นคนรับใช้
ของท่านที่เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะโดยแท้ ข้อนี้เป็นทาง
เสื่อมประการที่ 1 แห่งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยม

เชิงอรรถ :
1 ความเต็มเหมือนในสามัญญผลสูตรข้อ 226-349

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :101 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [3.อัมพัฏฐสูตร]
ทางเสื่อม 4 ประการแห่งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติ

(2) อีกอย่างหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ เมื่อยังไม่
บรรลุวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้ ทั้งไม่สามารถจะ
หาผลไม้ที่หล่นบริโภคได้ จึงถือเสียมและตะกร้าเข้าไปสู่ราวป่า
ด้วยตั้งใจว่าจักบริโภคเหง้า ราก และผลไม้ เขาต้องเป็นคนรับใช้
ของท่านที่เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะโดยแท้ ข้อนี้เป็นทาง
เสื่อมประการที่ 2 แห่งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยม
(3) อีกอย่างหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ เมื่อยังไม่
บรรลุวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้ ไม่สามารถจะ
หาผลไม้ที่หล่นบริโภคได้ ทั้งไม่สามารถจะหาเหง้า ราก และผลไม้
บริโภคได้ จึงสร้างเรือนไฟไว้ใกล้บ้านหรือนิคมแล้วบูชาไฟอยู่
เขาต้องเป็นคนรับใช้ของท่านที่เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
โดยแท้ ข้อนี้เป็นทางเสื่อมประการที่ 3 แห่งวิชชาสมบัติและ
จรณสมบัติอันยอดเยี่ยม
(4) อีกอย่างหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ เมื่อยังไม่
บรรลุวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้ ไม่สามารถจะ
หาผลไม้ที่หล่นบริโภคได้ ไม่สามารถหาเหง้า ราก และผลไม้
บริโภคได้ ทั้งไม่สามารถจะบูชาไฟได้ จึงสร้างเรือนมีประตู 4
ด้านไว้ที่หนทางใหญ่สี่แพร่งแล้วพักอยู่ด้วยตั้งใจว่า เราจะบูชา
ท่านผู้ที่เดินทางมาจากทิศทั้ง 4 ตามสติกำลัง ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็น
สมณะหรือพราหมณ์ก็ตาม เขาต้องเป็นคนรับใช้ของท่านที่เพียบ
พร้อมด้วยวิชชาและจรณะโดยแท้ ข้อนี้เป็นทางเสื่อมประการที่
4 แห่งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยม
อัมพัฏฐะ วิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมมีทางเสื่อมอยู่ 4 ประการ
นี้แล
[281] อัมพัฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เธอกับอาจารย์ย่อมปรากฏมี
ในวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้บ้างหรือไม่”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :102 }