เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [3.อัมพัฏฐสูตร] เรื่องวิชาและจรณะ

เรื่องวิชชาและจรณะ

[278] อัมพัฏฐมาณพทูลถามว่า “่ท่านพระโคดม ก็จรณะนั้นเป็นอย่างไร
วิชชานั้นเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อัมพัฏฐะ ในวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันเป็น
คุณยอดเยี่ยม เขาไม่อ้างชาติ ไม่อ้างตระกูล หรือไม่อ้างความถือตัวว่า ท่านคู่ควรกับ
เราหรือท่านไม่คู่ควรกับเรา แต่ในที่ที่มีอาวาหมงคล วิวาหมงคล หรืออาวาหมงคล
และวิวาหมงคล เขาจึงอ้างชาติ อ้างตระกูล หรืออ้างความถือตัวว่า ท่านคู่ควรกับเรา
หรือท่านไม่คู่ควรกับเรา อัมพัฏฐะ ชนที่ยึดติดเพราะอ้างชาติ ยึดติดเพราะอ้างตระกูล
ยึดติดเพราะอ้างความถือตัวหรือยึดติดอยู่กับอาวาหมงคลและวิวาหมงคล ชื่อว่ายัง
อยู่ห่างไกลจากวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันเป็นคุณยอดเยี่ยม อัมพัฏฐะ การ
ทำให้แจ้งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันเป็นคุณยอดเยี่ยมย่อมมีได้เพราะละการ
ยึดติดเพราะอ้างชาติ การยึดติดเพราะอ้างตระกูล การยึดติดเพราะอ้างความถือตัว
และการยึดติดอยู่กับอาวาหมงคลและวิวาหมงคลแล้วเท่านั้น”
[279] อัมพัฏฐมาณพทูลถามว่า “ท่านพระโคดม จรณะนั้นเป็นอย่างไร
วิชชานั้นเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์
ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ ฯลฯ1 (พึงนำข้อความเต็มในสามัญญผลสูตรมาใส่ไว้ใน
ที่นี้)
ภิกษุนั้นสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตกวิจาร
ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ ฯลฯ ข้อนี้จัดเป็นจรณะอย่างหนึ่งของภิกษุนั้น
ยังมีอีก อัมพัฏฐะ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌานมีความ
ผ่องใสในภายในมีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอัน
เกิดจากสมาธิอยู่ ฯลฯ ข้อนี้จัดเป็นจรณะอย่างหนึ่งของภิกษุนั้น

เชิงอรรถ :
1 ความเต็มเหมือนในสามัญญผลสูตรข้อ 190-225 คือ เพิ่มจูฬศีล มัชฌิมศีล มหาศีล อินทรียสังวร
สติสัมปชัญญะ สันโดษ การละนิวรณ์ อุปมานิวรณ์ 5 เข้ามา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :100 }