เมนู

พระวินัยปิฎก ปริวาร [อุปาลิปัญจกะ] 5. อัตตาทานวรรค
1. ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาอย่างนี้ว่า ‘เรามีความ
ประพฤติทางกายบริสุทธิ์หรือหนอ เราประกอบด้วยความประพฤติ
ทางกายที่บริสุทธิ์ ไม่เสียหาย ไม่บกพร่อง คุณสมบัติข้อนี้เรามี
อยู่หรือไม่มีหนอ’ ถ้าภิกษุไม่ใช่ผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์
ประกอบด้วยความประพฤติทางกายที่บริสุทธิ์ ไม่เสียหาย ไม่บกพร่อง
ภิกษุผู้โจทก์นั้นย่อมถูกตอบโต้ว่า ‘เชิญท่านสำเหนียกความประพฤติ
ทางกายเสียก่อนเถิด’ ภิกษุผู้โจทก์นั้นย่อมจะถูกตอบโต้อย่างนี้
2. อนึ่ง ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาอย่างนี้ ‘เรามี
ความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์หรือหนอ เราประกอบด้วยความ
ประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ไม่เสียหาย ไม่บกพร่อง คุณสมบัติ
ข้อนี้เรามีหรือไม่มีหนอ’ ถ้าภิกษุไม่ใช่ผู้มีความประพฤติทางวาจา
บริสุทธิ์ ประกอบด้วยความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ไม่เสียหาย
ไม่บกพร่อง ภิกษุผู้โจทก์นั้นย่อมถูกตอบโต้ว่า ‘เชิญท่านสำเหนียก
ความประพฤติทางวาจาเสียก่อนเถิด’ ภิกษุผู้โจทก์นั้นย่อมจะถูกตอบ
โต้อย่างนี้
3. อนึ่ง ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาอย่างนี้ ‘เรามี
เมตตาจิต ไม่อาฆาตพยาบาทเพื่อนพรหมจารีหรือหนอ คุณสมบัติ
ข้อนี้เรามีหรือไม่มีหนอ’ ถ้าภิกษุไม่ใช่ผู้มีเมตตาจิต ไม่อาฆาต
พยาบาทเพื่อนพรหมจารี ภิกษุผู้โจทก์นั้นย่อมถูกตอบโต้ว่า ‘เชิญ
ท่านมีเมตตาจิตในเพื่อนพรหมจารีเสียก่อนเถิด’ ภิกษุผู้โจทก์นั้น
ย่อมจะถูกตอบโต้อย่างนี้
4. อนึ่ง ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาอย่างนี้ ‘เรา
เป็นพหูสูต ทรงสุตะ มีการสั่งสมสุตะหรือหนอ เราได้สดับมาก
ทรงจำได้แม่นยำ คล่องปาก ขึ้นใจ รู้ชัดด้วยปัญญาซึ่งธรรมงาม
เบื้องต้น งามท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 8 หน้า :617 }


พระวินัยปิฎก ปริวาร [อุปาลิปัญจกะ] 5. อัตตาทานวรรค
อรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วนหรือไม่หนอ
คุณสมบัติข้อนี้เรามีหรือไม่มีหนอ’ ถ้าภิกษุไม่ได้เป็นพหูสูต ทรงสุตะ
มีการสั่งสมสุตะ ได้สดับมาก ทรงจำได้แม่นยำ คล่องปาก ขึ้นใจ
รู้ชัดด้วยปัญญาซึ่งธรรมงามเบื้องต้น งามท่ามกลาง งามในที่สุด
ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์
บริบูรณ์ครบถ้วน ภิกษุผู้โจทก์นั้นย่อมจะถูกตอบโต้ว่า ‘เชิญท่าน
ศึกษาพระปริยัติเสียก่อนเถิด’ ภิกษุผู้โจทก์นั้นย่อมจะถูกตอบโต้อย่างนี้
5. อนึ่ง ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาอย่างนี้ ‘เรา
ทรงจำปาติโมกข์ทั้งสองได้แม่นยำโดยพิสดาร จำแนกถูกต้อง จัด
ระเบียบถูกต้อง วินิจฉัยถูกต้องโดยสุตตะโดยอนุพยัญชนะหรือหนอ
คุณสมบัติข้อนี้เรามีหรือไม่มีหนอ’ ถ้าภิกษุไม่ใช่ผู้ทรงจำปาติโมกข์
ทั้งสองได้แม่นยำโดยพิสดาร จำแนกถูกต้อง จัดระเบียบถูกต้อง
วินิจฉัยถูกต้องโดยสุตตะโดยอนุพยัญชนะ(ตามข้อ ตามอักษร) ภิกษุ
ผู้โจทก์นั้นย่อมจะถูกตอบโต้ว่า ‘เชิญท่านศึกษาพระวินัยให้ชำนาญ
เสียก่อนเถิด’ ภิกษุผู้โจทก์นั้นย่อมจะถูกตอบโต้อย่างนี้
อุบาลี ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาคุณสมบัติภายในตน 5
อย่างนี้ จึงโจทผู้อื่น”

คุณสมบัติที่โจทก์พึงตั้งไว้ในตน1
[437] ท่านพระอุบาลีทูลถามว่า “ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงตั้ง
คุณสมบัติเท่าไรไว้ในตน พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อุบาลี ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงตั้ง
คุณสมบัติ 5 อย่างไว้ในตน คุณสมบัติ 5 อย่าง คือ

เชิงอรรถ :
1 วิ.จู. (แปล) 7/400/304, ที.ปา. (แปล) 11/316/306, องฺ.ปญฺจก. (แปล) 22/167/277, องฺ.ทสก.
(แปล) 24/44/96

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 8 หน้า :618 }