เมนู

พระวินัยปิฎก ปริวาร [มหาสงคราม] 5. ปรปักขาทิอวชานนะ
5. ปรปักขาทิอวชานนะ
ว่าด้วยการดูหมิ่นฝ่ายอื่น เป็นต้น
[391] ถาม : อย่างไรชื่อว่า ดูหมิ่นฝ่ายอื่นด้วยเข้าใจว่า เราได้พวกแล้ว
ตอบ : ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ ได้พวก ได้บริวารแล้ว มีพวก มีญาติ
จึงคิดว่า ผู้นี้ไม่ได้พวก ไม่ได้บริวาร ไม่มีพวก ไม่มีญาติ ดังนี้ จึงดูหมิ่นภิกษุนั้น
ย่อมแสดงอธรรมว่าเป็นธรรม แสดงธรรมว่าเป็นอธรรม ฯลฯ แสดงอาบัติชั่วหยาบ
ว่าเป็นอาบัติไม่ชั่วหยาบ แสดงอาบัติไม่ชั่วหยาบว่าเป็นอาบัติชั่วหยาบ
ภิกษุชื่อว่าดูหมิ่นฝ่ายอื่นด้วยเข้าใจว่า เราได้พวกแล้ว ด้วยอาการอย่างนี้

ว่าด้วยดูหมิ่นภิกษุมีสุตะน้อย
[392] ถาม : อย่างไรชื่อว่า ดูหมิ่นผู้มีสุตะน้อยด้วยเข้าใจว่า เรามีสุตะมาก
ตอบ : ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีสุตะมาก ทรงจำสุตะ สั่งสมสุตะ
ดูหมิ่นภิกษุนั้นว่า ท่านผู้นี้มีสุตะน้อย มีอาคมน้อย ทรงจำไว้ได้น้อย ย่อมแสดง
อธรรมว่าเป็นธรรม แสดงธรรมว่าเป็นอธรรม ฯลฯ แสดงอาบัติชั่วหยาบว่าเป็นอาบัติ
ไม่ชั่วหยาบ แสดงอาบัติไม่ชั่วหยาบว่าเป็นอาบัติชั่วหยาบ
ภิกษุชื่อว่าดูหมิ่นผู้มีสุตะน้อยด้วยเข้าใจว่า เรามีสุตะมาก ด้วยอาการอย่างนี้

ว่าด้วยดูหมิ่นภิกษุผู้อ่อนพรรษากว่า
[393] ถาม : อย่างไรชื่อว่า ดูหมิ่นภิกษุผู้อ่อนกว่าด้วยเข้าใจว่า เราเป็นผู้แก่กว่า
ตอบ : ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ เป็นเถระรู้ราตรี บวชนาน ดูหมิ่นภิกษุ
นั้นว่า ท่านผู้นี้เป็นผู้อ่อนกว่า ไม่มีชื่อเสียง มีสุตะน้อย ไม่รู้สิ่งที่ทำไปแล้ว ถ้อยคำ
ของผู้นี้จักเป็นถ้อยคำที่ทำไม่ได้ ดังนี้ ย่อมแสดงอธรรมว่าเป็นธรรม แสดงธรรมว่า
เป็นอธรรม ฯลฯ แสดงอาบัติชั่วหยาบว่าเป็นอาบัติไม่ชั่วหยาบ แสดงอาบัติไม่ชั่ว
หยาบว่าเป็นอาบัติชั่วหยาบ
ภิกษุชื่อว่าดูหมิ่นภิกษุผู้อ่อนกว่าด้วยเข้าใจว่า เราเป็นผู้แก่กว่า ด้วยอาการอย่างนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 8 หน้า :565 }


พระวินัยปิฎก ปริวาร [มหาสงคราม] 6. อนุวิชชกัสสอนุโยคะ
ว่าด้วยไม่พึงพูดเรื่องที่ยังมาไม่ถึง
[394] คำว่า ไม่พึงพูดเรื่องที่ยังมาไม่ถึง นั้น คือ ไม่นำคำพูดที่ไม่เข้า
ประเด็นมา
คำว่า ไม่พึงให้เรื่องที่มาถึงแล้วเสื่อมไปจากพระธรรมวินัย นั้น คือ ไม่พึง
ทำประโยชน์ที่สงฆ์ประชุมกันแล้วให้เสื่อมไปจากพระธรรม จากพระวินัย

ว่าด้วยธรรมวินัยสัตถุศาสน์
[395] คำว่า ด้วยธรรมใด คือ ด้วยเรื่องจริง
คำว่า ด้วยวินัยใด คือ โจทแล้วให้จำเลยให้การ
คำว่า ด้วยสัตถุศาสน์ใด คือ ด้วยญัตติสัมปทา ด้วยอนุสาวนสัมปทา
อธิกรณ์นั้น ย่อมระงับด้วยธรรมใด ด้วยวินัยใด ด้วยสัตถุศาสน์ใด พึงให้
อธิกรณ์นั้นระงับด้วยวิธีนั้น

6. อนุวิชชกัสสอนุโยคะ
ว่าด้วยข้อซักถามของภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์
[396] อันภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์พึงถามโจทก์ว่า อาวุโส ข้อที่ท่านงดปวารณา
แก่ภิกษุรูปนี้นั้น ท่านงดเพราะเรื่องอะไร ท่านงดด้วยสีลวิบัติ ท่านงดด้วยอาจารวิบัติ
หรือท่านงดด้วยทิฏฐิวิบัติ
ถ้าโจทก์นั้นตอบอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้างดด้วยสีลวิบัติ งดด้วยอาจารวิบัติ หรืองด
ด้วยทิฏฐิวิบัติ
ภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์นั้น พึงซักถามโจทก์อย่างนี้ว่า ท่านรู้สีลวิบัติ รู้อาจารวิบัติ
รู้ทิฏฐิวิบัติหรือ
ถ้าโจทก์นั้นตอบอย่างนี้ว่า อาวุโส ข้าพเจ้ารู้สีลวิบัติ รู้อาจารวิบัติ รู้ทิฏฐิวิบัติ
ภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์ พึงซักถามโจทก์อย่างนี้ว่า อาวุโส ก็สีลวิบัติเป็นไฉน
อาจารวิบัติเป็นไฉน ทิฏฐิวิบัติเป็นไฉน


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 8 หน้า :566 }