เมนู

พระวินัยปิฎก ปริวาร [จูฬสงคราม] 1. อนุวิชชกัสสปฏิปัตติ
จูฬสงคราม
ว่าด้วยภิกษุผู้เข้าสู่จูฬสงคราม
1. อนุวิชชกัสสปฏิปัตติ
ว่าด้วยข้อปฏิบัติของภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์
[365] อันภิกษุผู้เข้าสงครามเมื่อเข้าหาสงฆ์พึงเป็นผู้มีจิตยำเกรง มีจิตเสมอด้วย
ผ้าเช็ดธุลี เข้าหาสงฆ์ พึงเป็นผู้รู้จักที่นั่ง รู้จักการนั่งไม่เบียดภิกษุผู้เถระ ไม่เบียด
อาสนะภิกษุผู้อ่อนกว่า พึงนั่งอาสนะตามสมควร ไม่พึงพูดเรื่องต่าง ๆ ไม่พึงพูดเรื่อง
ดิรัจฉานกถา พึงกล่าวธรรมเอง หรือเชื้อเชิญภิกษุรูปอื่น ไม่พึงดูหมิ่นอริยดุษณีภาพ
อันภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์ที่สงฆ์อนุมัติแล้ว มีประสงค์จะวินิจฉัยอธิกรณ์ ไม่พึง
ถามถึงอุปัชฌาย์ ไม่พึงถามถึงอาจารย์ ไม่พึงถามถึงสัทธิวิหาริก ไม่พึงถามถึงอันเตวาสิก
ไม่พึงถามถึงภิกษุปูนอุปัชฌาย์ ไม่พึงถามถึงภิกษุปูนอาจารย์ ไม่พึงถามถึงชาติ
ไม่พึงถามถึงชื่อ ไม่พึงถามถึงโคตร ไม่พึงถามถึงอาคม ไม่พึงถามถึงชั้นแห่งตระกูล
ไม่พึงถามถึงชาติภูมิ เพราะเหตุไร เพราะความรักหรือความชังจะพึงมีในบุคคลนั้น
เมื่อมีความรักหรือความชัง พึงลำเอียงเพราะความชอบบ้าง พึงลำเอียงเพราะความ
ชังบ้าง พึงลำเอียงเพราะความหลงบ้าง พึงลำเอียงเพราะความกลัวบ้าง
อันภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์ที่สงฆ์อนุมัติแล้ว มีประสงค์จะวินิจฉัยอธิกรณ์ พึงเป็น
ผู้หนักในสงฆ์ ไม่พึงเป็นผู้หนักในบุคคล พึงเป็นผู้หนักในพระสัทธรรม ไม่พึงเป็นผู้
หนักในอามิส พึงเป็นผู้ไปตามอำนาจแห่งคดี ไม่พึงเป็นผู้เห็นแก่บริษัท พึงวินิจฉัย
โดยกาลอันควร ไม่พึงวินิจฉัยโดยกาลไม่ควร พึงวินิจฉัยด้วยคำจริง ไม่พึงวินิจฉัยด้วย
คำไม่จริง พึงวินิจฉัยด้วยคำสุภาพ ไม่พึงวินิจฉัยด้วยคำหยาบ พึงวินิจฉัยด้วยคำ
ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่พึงวินิจฉัยด้วยคำไม่ประกอบด้วยประโยชน์ พึงเป็นผู้มี
เมตตาจิตวินิจฉัย ไม่พึงเป็นผู้มุ่งร้ายวินิจฉัย ไม่พึงเป็นผู้กระซิบที่หู ไม่พึงคอยจับผิด
ไม่พึงขยิบตา ไม่พึงเลิกคิ้ว ไม่พึงชะเง้อศีรษะ ไม่พึงทำวิการแห่งมือ ไม่พึงใช้มือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 8 หน้า :550 }


พระวินัยปิฎก ปริวาร [จูฬสงคราม] 1. อนุวิชชกัสสปฏิปัตติ
แสดงท่าทาง พึงเป็นผู้รู้จักที่นั่ง พึงเป็นผู้รู้จักการนั่ง พึงนั่งบนอาสนะของตน
ทอดตาชั่วแอก เพ่งเนื้อความและไม่ลุกจากอาสนะไปข้างไหน ไม่พึงยังการวินิจฉัย
ให้บกพร่อง ไม่พึงเสพทางผิด ไม่พึงพูดสัดส่าย พึงเป็นผู้ไม่รีบด่วน ไม่ผลุนผลัน
ไม่ดุดัน เป็นผู้อดทนได้ต่อถ้อยคำ พึงเป็นผู้มีเมตตาจิต คิดเอ็นดูเพื่อประโยชน์ พึงเป็น
ผู้มีกรุณาขวนขวาย เพื่อประโยชน์ พึงเป็นผู้ไม่พูดพล่อย เป็นผู้พูดมีที่สุด พึงเป็นผู้
ไม่ผูกเวร ไม่ขัดเคือง พึงรู้จักตน พึงรู้จักผู้อื่น พึงสังเกตโจทก์ พึงสังเกตจำเลย
พึงกำหนดรู้ผู้โจทก์ไม่เป็นธรรม พึงกำหนดรู้ผู้ถูกโจทไม่เป็นธรรม พึงกำหนดรู้ผู้โจทก์
เป็นธรรม พึงกำหนดรู้ผู้ถูกโจทเป็นธรรม พึงกำหนดข้อความพึงเปิดเผยผู้ไม่สะอาด ที่
2 ฝ่ายกล่าวมิให้ตกหล่น ไม่แซมข้อความอันเขาไม่ได้กล่าว พึงจำบทพยัญชนะอัน
เข้าประเด็นไว้เป็นอย่างดีสอบสวนจำเลย แล้วพึงปรับตามคำรับสารภาพ โจทก์หรือ
จำเลยประหม่าพึงพูดเอาใจ เป็นผู้ฉลาด พึงพูดปลอบ พึงเป็นผู้ดุห้ามเสีย พึงเป็นผู้
ตรงกับผู้ประพฤติอ่อนโยน ไม่พึงลำเอียงเพราะชอบ ไม่พึงลำเอียงเพราะชัง ไม่พึง
ลำเอียงเพราะหลง ไม่พึงลำเอียงเพราะกลัว พึงวางตนเป็นกลาง ทั้งในธรรม ทั้งใน
บุคคล
ก็แล ภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์ เมื่อวินิจฉัยอธิกรณ์ด้วยอาการอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้
ทำตามคำสอนของพระศาสดา เป็นที่รักที่ชอบใจที่เคารพ ที่สรรเสริญแห่งสพรหมจารี
ทั้งหลายผู้เป็นวิญญู

ว่าด้วยประโยชน์แห่งสูตร เป็นต้น
[366] สูตรเพื่อประโยชน์แก่การเทียบเคียง ข้ออุปมาเพื่อประโยชน์แก่การชี้แจง
เนื้อความเพื่อประโยชน์ที่จะให้เขาเข้าใจ การย้อนถามเพื่อประโยชน์แก่ความดำรงอยู่
การขอโอกาสเพื่อประโยชน์แก่การโจท การโจทเพื่อประโยชน์แก่การให้จำเลยระลึก
การให้ระลึกเพื่อประโยชน์แก่ความเป็นผู้มีถ้อยคำอันจะพึงกล่าว ความเป็นผู้มี
ถ้อยคำอันจะพึงกล่าวเพื่อประโยชน์แก่ปลิโพธ ปลิโพธเพื่อประโยชน์แก่การวินิจฉัย
การวินิจฉัยเพื่อประโยชน์แก่การพิจารณา การพิจารณาเพื่อประโยชน์แก่การรู้ฐานะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 8 หน้า :551 }