เมนู

พระวินัยปิฎก ปริวาร [โจทนากัณฑ์] 1. อนุวิชชกอนุโยค
เรื่องที่ได้ยินสมด้วยเรื่องที่ได้ยิน
เรื่องที่ได้ยินเทียบกันได้กับเรื่องที่ได้ยิน
แต่บุคคลนั้นไม่ยอมรับ เพราะอาศัยการได้ยิน
บุคคลนั้นถูกสงสัยว่าไม่บริสุทธิ์ พึงปรับอาบัติตามปฏิญญา
พึงทำอุโบสถกับบุคคลนั้น
เรื่องที่ได้ทราบสมด้วยเรื่องที่ได้ทราบ
เรื่องที่ได้ทราบเทียบกันได้กับเรื่องที่ได้ทราบ
แต่บุคคลนั้นไม่ยอมรับ เพราะอาศัยการได้ทราบ
บุคคลนั้นถูกสงสัยว่าไม่บริสุทธิ์ พึงปรับอาบัติตามปฏิญญา
พึงทำอุโบสถกับบุคคลนั้นเถิด

ข้อซักถามของภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์
[362] ถาม : การโจทมีอะไรเป็นเบื้องต้น มีอะไรเป็นท่ามกลาง มีอะไรเป็นที่สุด
ตอบ : การโจทมีโอกาสเป็นเบื้องต้น มีการทำเป็นท่ามกลาง มีการระงับเป็นที่สุด
ถาม : การโจทมีมูลเท่าไร มีวัตถุเท่าไร มีภูมิเท่าไร โจทด้วยอาการเท่าไร
ตอบ : การโจทมีมูล 2 มีวัตถุ 3 มีภูมิ 5 โจทด้วยอาการ 2 อย่าง
ถาม : การโจทมีมูล 2 เป็นไฉน
ตอบ : การโจทมีมูล การโจทไม่มีมูล นี้การโจทมีมูล 2
ถาม : การโจทมีวัตถุ 3 เป็นไฉน
ตอบ : เรื่องที่ได้เห็น เรื่องที่ได้ยิน เรื่องที่นึกสงสัย นี้การโจทมีวัตถุ 3
ถาม : การโจทมีภูมิ 5 เป็นไฉน
ตอบ : 1. จักโจทโดยกาลที่สมควร จักไม่โจทโดยกาลไม่ควร
2. จักโจทด้วยเรื่องจริง จักไม่โจทด้วยเรื่องไม่จริง
3. จักโจทด้วยคำสุภาพ จักไม่โจทด้วยคำหยาบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 8 หน้า :545 }


พระวินัยปิฎก ปริวาร [โจทนากัณฑ์] 2. โจทกาทิปฏิปัตติ
4. จักโจทด้วยเรื่องที่เป็นประโยชน์ จักไม่โจทด้วยเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์
5. จักมีเมตตาจิตโจท จักไม่มุ่งร้ายโจท
นี้การโจทมีภูมิ 5
ถาม : โจทด้วยอาการ 2 อย่าง เป็นไฉน
ตอบ : โจทด้วยกาย โจทด้วยวาจา นี้โจทด้วยอาการ 2 อย่าง

2. โจทกาทิปฏิปัตติ
ว่าด้วยข้อปฏิบัติของโจทก์ เป็นต้น
[363] โจทก์พึงปฏิบัติอย่างไร จำเลยพึงปฏิบัติอย่างไร สงฆ์พึงปฏิบัติ
อย่างไร ภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์พึงปฏิบัติอย่างไร
ถาม : โจทก์พึงปฏิบัติอย่างไร
ตอบ : โจทก์พึงตั้งอยู่ในธรรม 5 อย่าง แล้วจึงโจทผู้อื่น คือ
1. จักโจทโดยกาลที่สมควร จักไม่โจทโดยกาลไม่ควร
2. จักโจทด้วยเรื่องจริง จักไม่โจทด้วยเรื่องไม่จริง
3. จักโจทด้วยคำสุภาพ จักไม่โจทด้วยคำหยาบ
4. จักโจทด้วยเรื่องที่เป็นประโยชน์ จักไม่โจด้วยเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์
5. จักมีเมตตาจิตโจท จักไม่มุ่งร้ายโจท
โจทก์พึงปฏิบัติอย่างนี้
ถาม : จำเลยพึงปฏิบัติอย่างไร
ตอบ : จำเลยพึงตั้งอยู่ในธรรม 2 ประการ คือ
1. ในความสัตย์ 2. ในความไม่ขุ่นเคือง
จำเลยพึงปฏิบัติอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 8 หน้า :546 }