เมนู

พระวินัยปิฎก ปริวาร [อปรคาถาสังคณิกะ] 1. โจทนาทิปุจฉาวิสัชชนา
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
“บุคคลไม่รู้คำต้นและคำหลัง ไม่ฉลาดในคำต้นและคำหลัง
ไม่รู้ทางแห่งถ้อยคำสำนวน ไม่ฉลาดในถ้อยคำสำนวน
คนเช่นนี้ เราเรียกว่า โจทก์ผู้โง่เขลา”

คนโจทก์ผู้ฉลาด
พระอุบาลีกราบทูลว่า
“จริง พระพุทธเจ้าข้า แม้ข้าพระพุทธเจ้าก็ทราบแล้วว่า
คนเช่นนี้ตรัสเรียกว่า โจทก์ผู้เขลา
ข้าพระพุทธเจ้าขอทูลถามพระองค์ถึงข้ออื่น
คนเช่นไร ตรัสเรียกว่า โจทก์ผู้ฉลาด
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
“บุคคลรู้คำต้นและคำหลัง ฉลาดในคำต้นและคำหลัง
รู้ทางแห่งถ้อยคำสำนวน ฉลาดในถ้อยคำสำนวน
คนเช่นนี้ เราเรียกว่า โจทก์ผู้ฉลาด”

การโจท
พระอุบาลีกราบทูลว่า
“จริง พระพุทธเจ้าข้า แม้ข้าพระพุทธเจ้าก็ทราบแล้วว่า
คนเช่นนี้ตรัสเรียกว่า โจทก์ผู้ฉลาด
ข้าพระพุทธเจ้าขอทูลถามพระองค์ถึงข้ออื่น
กิริยาเช่นไร พระองค์ตรัสเรียกว่า การโจท”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
“กิริยาที่ถูกโจทด้วยสีลวิบัติ ด้วยอาจารวิบัติ ด้วยทิฏฐิวิบัติ
และแม้ด้วยอาชีววิบัติ ฉะนั้น เราจึงเรียกว่า การโจท”
อปรคาถาสังคณิกะ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 8 หน้า :542 }


พระวินัยปิฎก ปริวาร [โจทนากัณฑ์] 1. อนุวิชชกอนุโยค
โจทนากัณฑ์
ว่าด้วยหมวดการโจท
1. อนุวิชชกอนุโยค
ว่าด้วยข้อซักถามของภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์
[360] ภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์ พึงถามโจทก์ว่า อาวุโส ข้อที่ท่านโจทภิกษุ
รูปนี้นั้น โจทเพราะเรื่องอะไร ท่านโจทด้วยสีลวิบัติ โจทด้วยอาจารวิบัติ หรือโจท
ด้วยทิฏฐิวิบัติ ถ้าโจทก์นั้นตอบอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าโจทด้วยสีลวิบัติ โจทด้วย
อาจารวิบัติ หรือโจทด้วยทิฏฐิวิบัติ ภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์พึงซักถามโจทก์
อย่างนี้ว่า ท่านรู้สีลวิบัติ รู้อาจารวิบัติ รู้ทิฏฐิวิบัติหรือ
ถ้าโจทก์ตอบอย่างนี้ว่า อาวุโส ข้าพเจ้ารู้สีลวิบัติ รู้อาจารวิบัติ รู้ทิฏฐิวิบัติ
ภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์พึงซักถามโจทก์อย่างนี้ว่า อาวุโส ก็ สีลวิบัติเป็นไฉน
อาจารวิบัติเป็นไฉน ทิฏฐิวิบัติเป็นไฉน
ถ้าโจทก์นั้นตอบอย่างนี้ว่า ปาราชิก 4 สังฆาทิเสส 13 นี้จัดเป็นสีลวิบัติ
ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ ทุพภาสิต นี้จัดเป็นอาจารวิบัติ มิจฉาทิฏฐิ
อันตคาหิกทิฏฐิ นี้จัดเป็นทิฏฐิวิบัติ
ภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์พึงซักถามโจทก์อย่างนี้ว่า อาวุโส ข้อที่ท่านโจทภิกษุ
รูปนี้นั้น ท่านโจทด้วยเรื่องที่ได้เห็น ด้วยเรื่องที่ได้ยิน หรือด้วยเรื่องที่นึกสงสัย
ถ้าโจทก์นั้นตอบอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าโจทด้วยเรื่องที่เห็น ด้วยเรื่องที่ได้ยิน หรือ
ด้วยเรื่องที่นึกสงสัย
ภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์พึงซักถามโจทก์อย่างนี้ว่า อาวุโส ข้อที่ท่านโจทภิกษุ
รูปนี้ด้วยเรื่องที่ได้เห็นนั้น ท่านเห็นอะไร เห็นอย่างไร เห็นเมื่อไร เห็นที่ไหน ท่าน
เห็นภิกษุรูปนี้ต้องอาบัติปาราชิก หรือท่านเห็นภิกษุรูปนี้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 8 หน้า :543 }