เมนู

พระวินัยปิฎก ปริวาร [อปรคาถาสังคณิกะ] 1. โจทนาทิปุจฉาวิสัชชนา
บุคคลผู้โจทก์ไม่เป็นธรรม
พระอุบาลีกราบทูลว่า
“จริง พระพุทธเจ้าข้า แม้ข้าพระพุทธเจ้าก็ทราบแล้วว่า
คนเช่นนี้ตรัสเรียกว่า ลัชชีบุคคล
ข้าพระพุทธเจ้าขอทูลถามพระองค์ถึงข้ออื่น
คนเช่นไร ตรัสเรียกว่า ผู้โจทก์ไม่เป็นธรรม”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
“ภิกษุโจทโดยกาลไม่ควร โจทด้วยเรื่องไม่เป็นจริง โจทด้วยคำหยาบ
โจทด้วยคำไม่ประกอบด้วยประโยชน์ มุ่งร้ายโจท ไม่มีเมตตาจิตโจท
คนเช่นนี้ เราเรียกว่า ผู้โจทก์ไม่เป็นธรรม”

บุคคลผู้โจทก์เป็นธรรม
พระอุบาลีกราบทูลว่า
“จริง พระพุทธเจ้าข้า แม้ข้าพระพุทธเจ้าก็ทราบแล้วว่า
คนเช่นนี้ตรัสเรียกว่า ผู้โจทก์ไม่เป็นธรรม
ข้าพระพุทธเจ้าขอทูลถามพระองค์ถึงข้ออื่น
คนเช่นไร ตรัสเรียกว่า ผู้โจทก์เป็นธรรม”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
“ภิกษุโจทโดยกาล โจทด้วยเรื่องจริง โจทด้วยคำสุภาพ
โจทด้วยคำประกอบด้วยประโยชน์ มีเมตตาจิต ไม่มุ่งร้ายโจท
คนเช่นนี้ เราเรียกว่า ผู้โจทก์เป็นธรรม”

คนโจทก์ผู้โง่เขลา
พระอุบาลีกราบทูลว่า
“จริง พระพุทธเจ้าข้า แม้ข้าพระพุทธเจ้าก็ทราบแล้วว่า
คนเช่นนี้ตรัสเรียกว่า ผู้โจทก์เป็นธรรม
ข้าพระพุทธเจ้าขอทูลถามพระองค์ถึงข้ออื่น
คนเช่นไร ตรัสเรียกว่า โจทก์ผู้โง่เขลา”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 8 หน้า :541 }


พระวินัยปิฎก ปริวาร [อปรคาถาสังคณิกะ] 1. โจทนาทิปุจฉาวิสัชชนา
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
“บุคคลไม่รู้คำต้นและคำหลัง ไม่ฉลาดในคำต้นและคำหลัง
ไม่รู้ทางแห่งถ้อยคำสำนวน ไม่ฉลาดในถ้อยคำสำนวน
คนเช่นนี้ เราเรียกว่า โจทก์ผู้โง่เขลา”

คนโจทก์ผู้ฉลาด
พระอุบาลีกราบทูลว่า
“จริง พระพุทธเจ้าข้า แม้ข้าพระพุทธเจ้าก็ทราบแล้วว่า
คนเช่นนี้ตรัสเรียกว่า โจทก์ผู้เขลา
ข้าพระพุทธเจ้าขอทูลถามพระองค์ถึงข้ออื่น
คนเช่นไร ตรัสเรียกว่า โจทก์ผู้ฉลาด
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
“บุคคลรู้คำต้นและคำหลัง ฉลาดในคำต้นและคำหลัง
รู้ทางแห่งถ้อยคำสำนวน ฉลาดในถ้อยคำสำนวน
คนเช่นนี้ เราเรียกว่า โจทก์ผู้ฉลาด”

การโจท
พระอุบาลีกราบทูลว่า
“จริง พระพุทธเจ้าข้า แม้ข้าพระพุทธเจ้าก็ทราบแล้วว่า
คนเช่นนี้ตรัสเรียกว่า โจทก์ผู้ฉลาด
ข้าพระพุทธเจ้าขอทูลถามพระองค์ถึงข้ออื่น
กิริยาเช่นไร พระองค์ตรัสเรียกว่า การโจท”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
“กิริยาที่ถูกโจทด้วยสีลวิบัติ ด้วยอาจารวิบัติ ด้วยทิฏฐิวิบัติ
และแม้ด้วยอาชีววิบัติ ฉะนั้น เราจึงเรียกว่า การโจท”
อปรคาถาสังคณิกะ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 8 หน้า :542 }