เมนู

พระวินัยปิฎก ปริวาร [คาถาสังคณิกะ] 5. ปาราชิกาทิอาปัตติ
วิเคราะห์สังฆาทิเสส
เธอจงฟังอาบัติที่เราเรียกว่าสังฆาทิเสส ตามลำดับ
สงฆ์เท่านั้นให้ปริวาส ชักเข้าหาอาบัติเดิม ให้มานัต อัพภาน
เพราะเหตุนั้น เราจึงเรียกอาบัตินั้นว่า อาบัติสังฆาทิเสส

วิเคราะห์อนิยต
เธอจงฟังอาบัติที่เราเรียกว่าอนิยต ตามลำดับ
กองอาบัติชื่อว่าอนิยต เพราะไม่แน่
ข้อที่เราบัญญัติไว้แล้วโดยมิใช่ส่วนเดียว
ในฐานะทั้ง 3 ฐานะอย่างใดอย่างหนึ่ง เรียกว่า อนิยต

วิเคราะห์ถุลลัจจัย
เธอจงฟังอาบัติที่เราเรียกว่าถุลลัจจัย ตามลำดับ
ภิกษุใดแสดงในภิกษุรูปเดียว
และภิกษุรูปใดรับโทษนั้น โทษเสมอด้วยโทษนั้นไม่มี
เพราะเหตุนั้น เราจึงเรียกโทษนั้นว่า ถุลลัจจัย

วิเคราะห์นิสสัคคีย์
เธอจงฟังอาบัติที่เราเรียกว่านิสสัคคีย์ ตามลำดับ
ภิกษุยอมสละและแสดงข้อละเมิดใดพร้อมกันในท่ามกลางสงฆ์
ท่ามกลางคณะ และในสำนักภิกษุหนึ่ง
เพราะเหตุนั้น เราจึงเรียกข้อละเมิดนั้นว่า นิสสัคคีย์

วิเคราะห์ปาจิตตีย์
เธอจงฟังอาบัติที่เราเรียกว่าปาจิตตีย์ ตามลำดับ
ความละเมิดยังกุศลธรรมให้ตกไป ทำอริยมรรคให้เสียไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 8 หน้า :516 }


พระวินัยปิฎก ปริวาร [คาถาสังคณิกะ] 5. ปาราชิกาทิอาปัตติ
เป็นเหตุทำให้จิตลุ่มหลง
เพราะเหตุนั้น เราจึงเรียกความละเมิดนั้นว่า ปาจิตตีย์

วิเคราะห์ปาฏิเทสนียะ
เธอจงฟังอาบัติที่เราเรียกว่าปาฏิเทสนียะ ตามลำดับ
ภิกษุไม่มีญาติ หาโภชนะมาได้ยาก
รับมาเองแล้วฉัน เรียกว่า ต้องธรรมที่น่าติเตียน
ภิกษุฉันอยู่ในที่นิมนต์ ภิกษุณีบงการอยู่ในสถานที่นิมนต์นั้น
ตามความพอใจ ภิกษุไม่ห้ามแต่กลับฉันอยู่ในที่นั้น
เรียกว่า ต้องธรรมที่น่าติเตียน
ภิกษุไม่อาพาธ ไปสู่ตระกูลที่มีจิตศรัทธา แต่มีโภคทรัพย์น้อย
ผู้ไม่ร่ำรวยแล้วฉันในที่นั้น เรียกว่า ต้องธรรมที่น่าติเตียน
ภิกษุอยู่ในป่าที่น่าหวาดระแวงมีภัยน่ากลัว ฉันอาหารที่เขา
ไม่ได้รับแจ้งไว้ก่อน ในที่นั้น เรียกว่า ต้องธรรมที่น่าติเตียน
ภิกษุณีไม่มีญาติ ขอโภชนะที่ผู้อื่นยึดถือว่าเป็นของเรา คือ
เนยใส น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ปลา เนื้อ นมสด และนมเปรี้ยว
ด้วยตนเอง ชื่อว่า ต้องธรรมที่น่าติเตียนในศาสนาของพระสุคต

วิเคราะห์ทุกกฏ
เธอจงฟังอาบัติที่เราเรียกว่าทุกกฏ ตามลำดับ
กรรมที่ผิด พลั้งพลาด จัดเป็นกรรมที่ทำไม่ดี
คนทำความชั่วอันใดไว้ในที่แจ้งหรือในที่ลับ
บัณฑิตทั้งหลายย่อมประกาศความชั่วนั้นว่า ทำชั่ว
เพราะเหตุนั้น เราจึงเรียกอาบัตินั้นว่า ทุกกฏ

วิเคราะห์ทุพภาสิต
เธอจงฟังอาบัติที่เราเรียกว่าทุพภาสิต ตามลำดับ
บทใดอันภิกษุกล่าวไม่ดี พูดไม่ดี และเสื่อมเสีย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 8 หน้า :517 }