เมนู

พระวินัยปิฎก ปริวาร [ภิกขุวิภังค์] 1. กัตถปัญญัตติวาร 1. ปาราชิกกัณฑ์
ถาม : ใครศึกษาอยู่
ตอบ : ภิกษุผู้เป็นพระเสขะและกัลยาณปุถุชนศึกษาอยู่
ถาม : ใครศึกษาสิกขาเรียบร้อยแล้ว
ตอบ : พระอรหันต์เป็นผู้ศึกษาสิกขาเรียบร้อยแล้ว
ถาม : สิกขาบทนี้ตั้งอยู่ในใคร
ตอบ : ตั้งอยู่ในสิกขากามบุคคล(บุคคลผู้ใคร่ศึกษา)
ถาม : ใครทรงเอาไว้
ตอบ : พระเถระทั้งหลายผู้ทรงจำปาราชิกสิกขาบทที่ 1 ได้ทรงเอาไว้
ถาม : เป็นถ้อยคำของใคร
ตอบ : เป็นพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ถาม : ใครนำมา
ตอบ : พระเถระทั้งหลายนำสืบ ๆ กันมา
รายนามพระเถระผู้ทรงจำพระวินัยสืบกันมา
[3] พระเถระเหล่านี้ คือ พระอุบาลี พระทาสกะ พระโสณกะ
พระสิคควะ และพระโมคคัลลีบุตร รวมเป็น 5 รูป
เป็นผู้นำพระวินัยสืบ ๆ กันมาในชมพูทวีปอันมีสิริ
จากนั้น พระเถระผู้ประเสริฐมีปัญญามากเหล่านี้ คือ
พระมหินทะ พระอิฏฏิยะ พระอุตติยะ พระสัมพละ
และพระภัททบัณฑิต เดินทางจากชมพูทวีปมาที่เกาะสิงหลนี้
ท่านเหล่านั้นสอนพระวินัยปิฎกที่เกาะตามพปัณณิ
สอนนิกาย 5 และปกรณ์ 7
จากนั้นพระอริฏฐะผู้มีปัญญา พระติสสทัตตบัณฑิต
พระกาฬสุมนะ ผู้เชี่ยวชาญ พระทีฆเถระ และพระทีฆสุมนบัณฑิต
ต่อมา พระกาฬสุมนะ พระนาคเถระ พระพุทธรักขิตะ
พระติสสเถระผู้มีปัญญา และพระเทวเถระผู้เป็นบัณฑิต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 8 หน้า :5 }


พระวินัยปิฎก ปริวาร [ภิกขุวิภังค์] 1. กัตถปัญญัตติวาร 1. ปาราชิกกัณฑ์
ต่อมา พระสุมนะผู้มีปัญญาและเชี่ยวชาญในพระวินัย
พระจูฬนาคะเป็นพหูสูต ดุจช้างซับมัน พระธัมมปาลิตะ
เป็นผู้อันสาธุชนในโรหนชนบทพากันบูชาเป็นอย่างดี
ศิษย์ของพระธัมมปาลิตะนั้น มีปัญญามากชื่อว่าเขมะ
ทรงจำพระไตรปิฎกได้รุ่งเรืองอยู่ในเกาะด้วยปัญญา
เหมือนดวงจันทร์รุ่งเรืองอยู่
พระอุปติสสะผู้มีปัญญา พระปุสสเทวะผู้เป็นมหาธรรมกถึก
ต่อมา พระสุมนะผู้มีปัญญา พระมหาปทุมะ1 เป็นพหูสูต
พระมหาสีวะผู้เป็นมหาธรรมกถึก ฉลาดในพระปิฎกทั้งหมด
ต่อมา พระอุบาลีผู้มีปัญญา เชี่ยวชาญในพระวินัย
พระมหานาคะผู้มีปัญญามาก ฉลาดในวงศ์พระสัทธรรม
ต่อมา พระอภยะผู้มีปัญญา ฉลาดในพระปิฎกทั้งหมด
พระติสสเถระผู้มีปัญญาเชี่ยวชาญในพระวินัย
พระสุมนา2มีปัญญามากผู้เป็นศิษย์ของพระติสสเถระนั้น เป็นพหูสูต
รักษาพระศาสนาต่อกันมาอยู่ในชมพูทวีป
พระจูฬาภยะผู้มีปัญญาและเชี่ยวชาญในพระวินัย
พระติสสเถระผู้มีปัญญาฉลาดในวงศ์พระสัทธรรม
พระจูฬเทวะผู้มีปัญญาและเชี่ยวชาญในพระวินัย
และพระสิวเถระผู้มีปัญญา ฉลาดในพระวินัยทั้งหมด

เชิงอรรถ :
1 พระมหาปทุมะ แปลมาจากคำว่า “ปุปฺผนาโม” ซึ่งตามตัวอักษรแปลว่า “พระเถระชื่อว่าบุปผา” ในที่นี้
พระธรรมสังคาหกาจารย์ท่านใช้คำปริศนาให้นึกเดา ปุปฺผ ดอกไม้ หมายถึงดอกปทุม คือเป็นคำแทนชื่อ
พระมหาปทุมะนั่นเอง (วชิร.ฏีกา 35, สารตฺถ.ฏีกา 1/186, วิมติ.ฏีกา 1/41)
2 พระสุมนะ แปลมาจากคำว่า “ปุปฺผนาโม (ปุสฺสนาโม)” ท่านใช้คำปริศนาอีกเช่นกัน (สารตฺถ.ฏีกา
1/186, วิมติ.ฏีกา 1/41) ดุจคำว่า “ชลชุตฺตมนามโก” (ขุ.อป. 32/28/80, ขุ.อป. 33/34/106
,105/272) หมายถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า “ปทุมุตตระ” (ขุ.อป.อ. 2/28/7,183/371)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 8 หน้า :6 }