เมนู

พระวินัยปิฎก ปริวาร [สมุฏฐานสีสสังเขป] สมุฏฐานสีสสังเขป
3. สมุฏฐานสีสสังเขป
ว่าด้วยการย่อหัวข้อสมุฏฐาน
[257] สังขารทั้งปวงที่ปัจจัยปรุงแต่ง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
พระนิพพานและบัญญัติ ท่านวินิจฉัยว่าเป็นอนัตตา1
เมื่อดวงจันทร์คือพระพุทธเจ้ายังไม่เกิดขึ้น
เมื่อดวงอาทิตย์คือพระพุทธเจ้ายังไม่อุทัยขึ้นมา
เพียงชื่อของสภาคธรรมเหล่านั้น ก็ยังไม่มีใครรู้จัก
พระมหาธีรเจ้าทั้งหลายผู้ทรงเป็นดวงตา
ทรงทำทุกกรกิริยาหลายอย่าง
บำเพ็ญพระบารมีแล้วเสด็จอุบัติขึ้นในโลกอันเป็นไปพร้อมทั้งพรหมโลก
พระองค์ทรงแสดงพระสัทธรรมอันกำจัดเสียซึ่งทุกข์นำมาซึ่งความสุข
พระอังคีรสศากยมุนีทรงเป็นผู้อนุเคราะห์แก่หมู่สัตว์ทุกถ้วนหน้า
พระองค์ผู้ทรงอุดมกว่าสรรพสัตว์ดุจราชสีห์
ทรงแสดงพระไตรปิฎก คือ พระสุตตันตะ
พระอภิธรรม พระวินัย ซึ่งมีคุณมาก
พระสัทธรรมจะเป็นไปได้ หากพระวินัยคืออุภโตวิภังค์
ขันธกะและมาติกายังดำรงอยู่
พระวินัยท่านร้อยกรองไว้ด้วยคัมภีร์ปริวาร
เหมือนดอกไม้ร้อยด้วยเส้นด้าย
สมุฏฐานแห่งคัมภีร์ปริวารนั่นแล ท่านจัดไว้แน่นอนแล้ว
ความเจือปน นิทานและสิ่งอื่น จะปรากฏในพระสูตรข้างหน้า
เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก
ต้องการศึกษาพระธรรมก็พึงศึกษาคัมภีร์ปริวารเถิด

เชิงอรรถ :
1 ที่ท่านนำสิ่งที่เป็นบัญญัติมาวินิจฉัยว่า “เป็นอนัตตา” ร่วมกับพระนิพพานซึ่งเป็นปรมัตถธรรมนั้น เพราะ
ว่าต่างก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่งเหมือนกัน (วิมติ.ฏีกา 2/257/351)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 8 หน้า :342 }


พระวินัยปิฎก ปริวาร [สมุฏฐานสีสสังเขป] 1. ปฐมปาราชิกสมุฏฐาน
สมุฏฐาน 13
ในวันอุโบสถ ภิกษุและภิกษุณีย่อมสวดสิกขาบท
ที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ผู้ทรงรู้ ทรงเห็นทรงบัญญัติไว้ในวิภังค์ทั้ง 2
ข้าพเจ้าจะกล่าวสมุฏฐานตามที่รู้มา
ขอท่านทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้าเถิด
ปฐมปาราชิกสิกขาบท ทุติยปาราชิกสิกขาบท
ถัดจากนั้น สัญจริตสิกขาบท สมนุภาสนสิกขาบท
อติเรกจีวรสิกขาบท เอฬกโลมสิกขาบท
ปทโสธัมมสิกขาบท ภูตาโรจนสิกขาบท
สังวิธานสิกขาบท เถยยสัตถสิกขาบท
เทสนาสิกขาบท โจรีวุฏฐานปนสิกขาบท
รวมกับการบวชสตรีที่บิดามารดาหรือสามีไม่อนุญาต
รวมเป็นสมุฏฐาน 13 ในอุภโตวิภังค์นี้
นัยแห่งสมุฏฐานทั้ง 13 นี้วิญญูชนทั้งหลายคิดกันแล้ว
ย่อมปรากฏคล้ายคลึงกัน ในแต่ละสมุฏฐาน

1. ปฐมปาราชิกสมุฏฐาน
[258] สิกขาบทว่าด้วยการเสพเมถุนธรรม
สิกขาบทว่าด้วยการจงใจทำน้ำอสุจิให้เคลื่อน
สิกขาบทว่าด้วยการถูกต้องกายกับมาตุคาม
อนิยตสิกขาบทที่หนึ่ง
สิกขาบทว่าด้วยการเข้าไปแทรกแซงภิกษุผู้เข้าไปอยู่ก่อน
สิกขาบทว่าด้วยการฉันบิณฑบาตที่ภิกษุณีแนะนำให้จัดเตรียม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 8 หน้า :343 }