เมนู

พระวินัยปิฎก ปริวาร [ภิกขุวิภังค์] 1. กัตถปัญญัตติวาร 3. อนิยตกัณฑ์
ถาม : ในปฐมอนิยตสิกขาบทนั้น มีพระบัญญัติ พระอนุบัญญัติ อนุปปันน
บัญญัติอยู่หรือ
ตอบ : ในปฐมอนิยตสิกขาบทนั้น มี 1 พระบัญญัติ ไม่มีพระอนุบัญญัติ และ
อนุปปันนบัญญัติ
ถาม : มีสัพพัตถบัญญัติ ปเทสบัญญัติอยู่หรือ
ตอบ : มีสัพพัตถบัญญัติ
ถาม : มีสาธารณบัญญัติ อสาธารณบัญญัติอยู่หรือ
ตอบ : มีอสาธารณบัญญัติ
ถาม : มีเอกโตบัญญัติ อุภโตบัญญัติอยู่หรือ
ตอบ : มีเอกโตบัญญัติ
ถาม : บรรดาปาติโมกขุทเทส 5 อุทเทส ปฐมอนิยตสิกขาบทนี้จัดเข้าใน
อุทเทสไหน นับเนื่องในอุทเทสไหน
ตอบ : จัดเข้าในนิทานุทเทส นับเนื่องในนิทานุทเทส
ถาม : มาสู่อุทเทส โดยอุทเทสไหน
ตอบ : มาสู่อุทเทส โดยอุทเทสที่ 4
ถาม : บรรดาวิบัติ 4 อย่าง เป็นวิบัติอย่างไหน
ตอบ : เป็นสีลวิบัติก็มี เป็นอาจารวิบัติก็มี
ถาม : บรรดากองอาบัติ 7 กอง เป็นกองอาบัติไหน
ตอบ : เป็นกองอาบัติปาราชิกก็มี เป็นกองอาบัติสังฆาทิเสสก็มี เป็นกองอาบัติ
ปาจิตตีย์ก็มี
ถาม : บรรดาสมุฏฐานแห่งอาบัติ 6 สมุฏฐาน เกิดด้วยสมุฏฐานเท่าไร
ตอบ : เกิดด้วยสมุฏฐาน 1 สมุฏฐาน คือ เกิดทางกายกับจิต มิใช่เกิดทางวาจา
ถาม : บรรดาอธิกรณ์ 4 อย่าง เป็นอธิกรณ์อย่างไหน
ตอบ : เป็นอาปัตตาธิกรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 8 หน้า :23 }


พระวินัยปิฎก ปริวาร [ภิกขุวิภังค์] 1. กัตถปัญญัตติวาร 3. อนิยตกัณฑ์
ถาม : บรรดาสมถะ 7 อย่าง ระงับด้วยสมถะเท่าไร
ตอบ : ระงับด้วยสมถะ 3 อย่าง คือ (1) สัมมุขาวินัย (2) ปฏิญญาตกรณะ
(3) สัมมุขาวินัยและติณวัตถารกะ
ถาม : ในปฐมอนิยตสิกขาบทนั้น อะไรเป็นพระวินัย อะไรเป็นอภิวินัย
ตอบ : พระบัญญัติเป็นพระวินัย การจำแนกเป็นอภิวินัย
ถาม : ในปฐมอนิยตสิกขาบทนั้น อะไรเป็นพระปาติโมกข์ อะไรเป็นอธิปาติโมกข์
ตอบ : พระบัญญัติเป็นพระปาติโมกข์ การจำแนกเป็นอธิปาติโมกข์
ถาม : อะไรเป็นวิบัติ
ตอบ : ความไม่สำรวมเป็นวิบัติ
ถาม : อะไรเป็นสมบัติ
ตอบ : ความสำรวมเป็นสมบัติ
ถาม : อะไรเป็นข้อปฏิบัติ
ตอบ : การที่ภิกษุสมาทานอาปาณโกฏิกศีลตลอดชีวิตว่า “เราจะไม่ทำอย่างนี้อีก”
แล้วศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย เป็นข้อปฏิบัติ
ถาม : พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติปฐมอนิยตสิกขาบทนี้ โดยทรงอาศัยอำนาจ
ประโยชน์เท่าไร
ตอบ : พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติปฐมอนิยตสิกขาบทนี้ โดยทรงอาศัยอำนาจ
ประโยชน์ 10 ประการ คือ
1. เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์
2. เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์
3. เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก
4. เพื่อความอยู่ผาสุกแห่งเหล่าภิกษุผู้มีศีลดีงาม
5. เพื่อปิดกั้นอาสวะทั้งหลายอันจะบังเกิดในปัจจุบัน
6. เพื่อกำจัดอาสวะทั้งหลายอันจะบังเกิดในอนาคต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 8 หน้า :24 }