เมนู

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [5. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] รวมเรื่องที่มีในขุททกวัตถุขันธกะ
ผงหญ้าตกเกลื่อน ทรงอนุญาตให้ฉาบด้วยดิน
ทั้งภายในทั้งภายนอก ทำให้มีสีขาว สีดำ สีเหลือง
สียางไม้ เขียนลวดลายดอกไม้ เขียนลวดลายเถาวัลย์
จักเป็นฟันมังกร เขียนลวดลายดอกจอก
ราวจีวร สายระเดียง
ภิกษุรูปหนึ่งทุพพลภาพเพราะชราถ่ายอุจจาระลุกขึ้นแล้วล้มลง
ทรงอนุญาตให้ล้อมรั้ว ทรงอนุญาตซุ้มประตูวัจกุฎี
ทรงอนุญาตให้โรยกรวดแร่ ทรงอนุญาตให้วางศิลาเลียบ
มีน้ำขัง ก็ทรงอนุญาตท่อระบายน้ำ
ทรงอนุญาตหม้ออุจจาระ ขันตักน้ำ
ภิกษุทั้งหลายนั่งถ่ายไม่สะดวก
ฐานที่นั่งถ่ายอุจจาระเปิดเผย ภิกษุทั้งหลายละอาย
ทรงอนุญาตฝาปิด
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ประพฤติไม่เหมาะสม
เรื่องทรงอนุญาตเครื่องใช้โลหะ เว้นเครื่องประหาร
ทรงอนุญาตเครื่องใช้ไม้ เว้นเก้าอี้นอน บัลลังก์
บาตรและเขียงเท้า ทรงอนุญาตเครื่องใช้ดิน
เว้นเครื่องใช้เช็ดเท้าและกุฎีดินเผา
นักวินัยพึงทราบนิเทศแห่งวัตถุที่เหมือนกันข้างต้นว่า ย่อไว้ในอุททาน
เรื่องในขุททกวัตถุขันธกะ ที่แสดงไว้ 110 เรื่อง
พระวินัยธรผู้ศึกษาดีแล้ว หวังเกื้อกูล มีศีลเป็นที่รัก
มีปัญญาดุจประทีป เป็นพหูสูต ผู้ควรเคารพกราบไหว้
จะเป็นผู้สืบต่อพระสัทธรรม
และอนุเคราะห์เหล่าสพรหมจารี ผู้มีศีลดีงาม

ขุททกวัตถุขันธกะ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 7 หน้า :88 }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [6. เสนาสน ขันธกะ] 1.ปฐมภาณวาร
6. เสนาสนขันธกะ

1. ปฐมภาณวาร

วิหารานุชานนะ
ว่าด้วยทรงอนุญาตวิหาร

เรื่องเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ขออนุญาตสร้างวิหาร
[294] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่
ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคยังไม่ได้ทรงบัญญัติ(ยัง
ไม่ทรงอนุญาต)เสนาสนะแก่ภิกษุทั้งหลาย และภิกษุเหล่านั้นอยู่ในที่นั้น ๆ คือ ป่า
โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง
เวลาเช้าตรู่ ภิกษุเหล่านั้นเดินออกมาจากที่นั้น ๆ คือ จากป่า โคนไม้ ภูเขา
ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง ทอดสายตาลงต่ำ มีการก้าวไป การ
ถอยหลัง การมองดู การเหลียวดู การคู้แขน การเหยียดแขนน่าเลื่อมใส เป็นผู้
สมบูรณ์ด้วยอิริยาบถ
ครั้งนั้น เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ไปสวนแต่เช้าตรู่ ได้แลเห็นภิกษุเหล่านั้นเดิน
ออกจากที่นั้น ๆ คือ จากป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง
ลอมฟาง ทอดสายตาลงต่ำ มีการก้าวไป การถอยหลัง การมองดู การเหลียวดู
การคู้แขน การเหยียดแขนน่าเลื่อมใส เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอิริยาบถ ครั้นเห็นแล้ว
เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์นั้นก็มีจิตเลื่อมใส
ลำดับนั้น เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ได้เข้าไปหาภิกษุเหล่านั้น ครั้นแล้วจึงได้
กล่าวกับภิกษุเหล่านั้นดังนี้ว่า “ถ้ากระผมจะ ให้สร้างวิหาร พระคุณเจ้าจะอยู่ในวิหาร
ของกระผมหรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 7 หน้า :89 }