เมนู

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [5. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงขึ้นต้นไม้ รูปใดขึ้น ต้อง
อาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งไปกรุงสาวัตถี ในแคว้นโกศล ระหว่างทางถูกช้างไล่ภิกษุ
นั้นวิ่งไปที่โคนไม้ ยำเกรงอยู่จึงไม่ยอมขึ้น พอดีช้างนั้นเดินไปทางอื่น ครั้นภิกษุนั้น
ไปถึงกรุงสาวัตถีได้บอกเรื่องนั้นให้ภิกษุทั้งหลายทราบ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมีเหตุที่สมควร เราอนุญาตให้ขึ้น
ต้นไม้สูงชั่วบุรุษ แต่ในคราวมีอันตราย ขึ้นได้ตามความประสงค์”

เรื่องทรงห้ามยกพระพุทธพจน์ขึ้นเป็นภาษาสันสกฤต
[285] สมัยนั้นภิกษุ 2 รูป ชื่อเมฏฐะและโกกุฏฐะ เป็นพี่น้องกัน เกิดใน
ตระกูลพราหมณ์ พูดจาอ่อนหวานมีเสียงไพเราะ ภิกษุทั้ง 2 รูปนั้นเข้าไปเฝ้าพระ
ผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “พระพุทธเจ้าข้า เวลานี้ภิกษุต่างชื่อ ต่างโคตร ต่าง
เชื้อชาติ ต่างตระกูลพากันออกบวช ภิกษุเหล่านั้นทำพระพุทธพจน์ให้ผิดเพี้ยนด้วยภาษา
ของตน1 ขอวโรกาส ข้าพระพุทธเจ้าจะขอยกพระพุทธพจน์ขึ้นเป็นภาษาสันสกฤต”2
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอ
จึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ขอวโรกาส ข้าพระพุทธเจ้าจะขอยกพระพุทธพจน์ขึ้นเป็นภาษา
สันสกฤต’เล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส
ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้ว ฯลฯ ทรงแสดงธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงยกพุทธวจนะขึ้นเป็นภาษาสันสกฤต รูปใดยกขึ้น ต้องอาบัติ
ทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เล่าเรียนพุทธวจนะด้วยภาษาของตน”

เชิงอรรถ :
1 ภาษาของตน คือ ภาษามคธซึ่งมีสำนวนโวหารตามแบบที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส (วิ.อ. 3/285/317)
2 ฉนฺทโส คือ สกฺกตภาสาย = ภาษาสันสกฤต (วิ.อ. 3/285/317)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 7 หน้า :71 }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [5. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
เรื่องพระฉัพพัคคีย์เรียนโลกายัต
[286] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์เรียนโลกายัต1 พวกคนทั้งหลายพากันตำหนิ
ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลาย ได้ยินคนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนา ฯลฯ
ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่เห็นสาระในโลกายัตพึงถึง
ความเจริญ ความงอกงาม ความไพบูลย์ในพระธรรมวินัยนี้หรือ”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ไม่ถึง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่เห็นสาระในธรรมวินัยนี้ ย่อม
เรียนโลกายัตหรือ”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ไม่เรียน พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเรียนโลกายัต รูปใดเรียน
ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์สอนโลกายัต คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า
“เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสอนโลกายัต รูปใดสอน ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องพระฉัพพัคคีย์เรียนดิรัจฉานวิชา
[287] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์เรียนดิรัจฉานวิชา ภิกษุทั้งหลายจึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

เชิงอรรถ :
1 โลกายัต หมายถึง ติตถิยศาสตร์ คือ ศาสตร์ของพวกเจ้าลัทธิต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วยเหตุไร้ประโยชน์
เช่น เรื่องสรรพสิ่งไม่บริสุทธิ์ เป็นเดน สรรพสิ่งบริสุทธิ์ ไม่เป็นเดน กาขาว นกยางดำ เป็นต้น (วิ.อ.3/
286/317)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 7 หน้า :72 }