เมนู

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [5. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
กระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ผมเป็นไข้ ขาดไม้เท้าไม่สามารถ
จะไปไหนได้ ขาดสาแหรกไม่สามารถจะนำบาตรไปได้ ผมขอทัณฑสิกกาสมมติต่อสงฆ์”
พึงขอแม้ครั้งที่ 2 ฯลฯ
พึงขอแม้ครั้งที่ 3 ฯลฯ
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุชื่อนี้รูปนี้เป็นไข้ ขาดไม้เท้าไม่สามารถ
จะเดินไปไหนได้ ขาดสาแหรกไม่สามารถจะนำบาตรไปได้ ท่านขอทัณฑสิกกาสมมติ
ต่อสงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วพึงให้ทัณฑสิกกาสมมติแก่ภิกษุชื่อนี้ นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุชื่อนี้รูปนี้เป็นไข้ ขาดไม้เท้าไม่สามารถ
จะเดินไปไหนได้ ขาดสาแหรกไม่สามารถจะนำบาตรไปได้ ท่านขอทัณฑสิกกาสมมติ
ต่อสงฆ์ สงฆ์ให้ทัณฑสิกกาสมมติแก่ภิกษุชื่อนี้ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการให้ทัณฑ
สิกกาสมมติแก่ภิกษุชื่อนี้ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึง
ทักท้วง
ทัณฑสิกกาสมมติ สงฆ์ให้แก่ภิกษุชื่อนี้แล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง
ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้

เรื่องภิกษุสำรอกอาหาร
[273] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งมีนิสัยเคี้ยวเอื้อง ท่านสำรอกอาหารออกมาเคี้ยว
แล้วกลืนเข้าไปอีก ภิกษุทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ภิกษุนี้ฉันอาหาร
ในเวลาวิกาล” แล้วนำเรื่องไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เพิ่งจุติมาจากกำเนิดโค ภิกษุ
ทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้มีนิสัยเคี้ยวเอื้อง เคี้ยวเอื้องได้ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ
ไม่พึงกลืนอาหารที่ออกมานอกปากแล้วเข้าไปอีก รูปใดกลืน พึงปรับอาบัติตามธรรม”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 7 หน้า :59 }