เมนู

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [5. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
พอถึงเวลาเช้าพระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จ
ไปนิเวศน์ของโพธิราชกุมาร เวลานั้นโพธิราชกุมารประทับรอพระผู้มีพระภาคอยู่ที่
ซุ้มประตูชั้นนอก ทอดพระเนตรเห็นพระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จมาแต่ไกล จึงเสด็จไป
ต้อนรับถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วเชิญพระองค์เสด็จไปข้างหน้า เข้าโกกนุท
ปราสาท พระผู้มีพระภาคประทับยืนใกล้บันไดขั้นต่ำสุด
โพธิราชกุมารได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มี
พระภาคโปรดทรงเหยียบผ้า พระพุทธเจ้าข้า ขอพระสุคตโปรดทรงเหยียบผ้าอันจะ
เป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่หม่อมฉันตลอดกาลนานเถิด”
เมื่อพระราชกุมารกราบทูลอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคทรงดุษณีภาพ
แม้ครั้งที่ 2 ฯลฯ
แม้ครั้งที่ 3 โพธิราชกุมารก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธ-
เจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงเหยียบผ้า พระพุทธเจ้าข้า ขอพระสุคตโปรด
ทรงเหยียบผ้าอันจะเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่หม่อมฉันตลอดกาลนานเถิด”
ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเหลือบดูท่านพระอานนท์ ครั้งนั้น ท่านพระ
อานนท์ได้ถวายพระพรโพธิราชกุมารดังนี้ว่า “ราชกุมาร โปรดม้วนผ้าเถิด พระผู้มี
พระภาคจะไม่ทรงเหยียบผ้าขาว พระตถาคตทรงอนุเคราะห์คนรุ่นหลัง”1

เชิงอรรถ :
1 ทรงอนุเคราะห์คนรุ่นหลัง อรรถกถาอธิบายว่า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงเหยีบผ้าเพราะเหตุ 3 ประการ คือ
1. เพื่อมิให้โพธิราชกุมารถือผิด โพธิราชกุมารได้ฟังมาว่า “ผู้ที่กระทำสักการะแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย
แล้วจะได้สิ่งที่ปรารถนาสมใจ” จึงตั้งความปรารถนาว่า “ถ้าเราจะได้บุตร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะ
ทรงเหยียบผ้าที่เราปู ถ้าไม่ได้บุตร ก็จะไม่ทรงเหยียบ” แล้วจึงปู พระผู้มีพระภาคดุษณีภาพรำพึงว่า
“พระกุมารต้องการอะไรจึงกระทำสักการะมากมาย” ได้ทรงทราบว่าปรารถนาบุตร แต่โพธิราชกุมาร
จะไม่มีบุตรเพราะผลกรรมที่ตนกับมเหสีกินลูกนกในชาติก่อน จึงไม่ทรงเหยียบผ้า ถ้าพระผู้มีพระภาค
ทรงเหยียบผ้าแล้ว ภายหลังโพธิราชกุมารไม่มีบุตร ท่านก็จะถือผิดว่า “ที่ได้ฟังมาว่า ผู้ที่ กระทำ
สักการะแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลายแล้วจะได้สิ่งที่ตนปรารถนา เราเองก็ได้ตั้งความปรารถนากระทำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 7 หน้า :51 }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [5. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
โพธิราชกุมารรับสั่งให้ม้วนผ้าแล้วให้ปูอาสนะบนโกกนุทปราสาทชั้นบน พระผู้
มีพระภาคเสด็จขึ้นโกกนุทปราสาท ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูถวาย พร้อมด้วย
ภิกษุสงฆ์ พระราชกุมารทรงนำของเคี้ยวของฉันอันประณีตประเคนภิกษุสงฆ์มีพระ
พุทธเจ้าเป็นประธานด้วยพระองค์เอง กระทั่งพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ แล้วทรง
ห้ามภัตตาหารแล้วละพระหัตถ์จากบาตร ได้ประทับนั่ง ณ ที่สมควร ลำดับนั้น
พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้โพธิราชกุมารเห็นชัด ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจ
ให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้วเสด็จกลับ

เรื่องทรงห้ามเหยียบผืนผ้าขาว
สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งกับ
ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเหยียบผืนผ้าที่ปูไว้ รูปใดเหยียบ ต้อง
อาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น สตรีผู้หนึ่งไม่มีครรภ์ นิมนต์ภิกษุทั้งหลายแล้วปูผ้ากล่าวว่า “พระ
คุณเจ้าทั้งหลาย นิมนต์เหยียบผ้าเถิด”
ภิกษุทั้งหลายยำเกรงอยู่จึงไม่ยอมเหยียบ นางกล่าวว่า “พระคุณเจ้าทั้งหลาย
นิมนต์เหยียบผ้าเพื่อเป็นสิริมงคล” ภิกษุทั้งหลายยำเกรงอยู่จึงไม่ยอมเหยียบ

เชิงอรรถ :
สักการะแล้ว แต่เราไม่ได้บุตร คำที่ฟังมาโมฆะเสียแล้ว เพื่อมิให้โพธิราชกุมารถือผิดอย่างนี้ จึงไม่
ทรงเหยียบผ้า
2. เพื่อมิให้พวกเดียรถีย์ดูหมิ่นว่า สิ่งที่พวกสมณศากยบุตรทำไม่ได้ไม่มี พวกท่านเที่ยวเดินเหยียบผ้า.
ของชาวบ้าน
3. เพื่อมิให้มนุษย์ทั้งหลายเกิดความรู้สึกที่ไม่ดี(วิปฏิสาร)ในหมู่ภิกษุ ในครั้งพุทธกาล ภิกษุทั้งหลายรู้
วาระจิตของผู้อื่น รู้ว่าควรก็จะเหยียบ รู้ว่าไม่ควรก็จะไม่เหยียบ แต่ต่อมา อุปนิสัยจะอ่อนลง ภิกษุ
ทั้งหลายจะไม่รู้ เมื่อเหยียบผ้าไปแล้ว ถ้าความปรารถนาของเขาสำเร็จ ก็ดีไป ถ้าไม่สำเร็จ พวก
มนุษย์ก็จะคิดว่า “ครั้งก่อน ผู้ที่ตั้งความปรารถนาแล้วทำสักการะแก่ภิกษุสงฆ์แล้ว ย่อมได้สิ่งที่ปรารถนา
มาบัดนี้ไม่ได้ ครั้งก่อนภิกษุทั้งหลาย คงจะบำเพ็ญข้อปฏิบัติบริบูรณ์ บัดนี้ภิกษุทั้งหลายคงจะ
บกพร่องในข้อปฏิบัติ”
ที่ทรงอนุเคราะห์คนรุ่นหลัง ก็คืออนุเคราะห์ภิกษุทั้งหลายและพวกมนุษย์ที่จะเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีในภิกษุ
สงฆ์นั่นเอง (ดู วิ.อ. 3/268/312, สารตฺถ.ฏีกา 3/268/464-465)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 7 หน้า :52 }