เมนู

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [5. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
จัญไร ทิศที่ไม่มีอุปัททวะก็กลับมีอุปัททวะ ในทิศที่ไม่เคยมีลมก็กลับมีลมแรง น้ำก็ดู
เป็นเหมือนน้ำร้อนขึ้นมา ปชาบดีของหม่อมฉันถูกพระทัพพมัลลบุตรทำมิดีมิร้าย”
เจ้าวัฑฒลิจฉวีรับคำของพระเมตติยะและพระภุมมชกะแล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว ได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ได้กราบทูลกับพระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ เรื่องนี้ไม่สมควร ไม่
เหมาะสม ทิศที่เคยปลอดภัยก็กลับมีภัย ทิศที่ไม่เคยมีเสนียดจัญไรก็กลับมีเสนียด
จัญไร ทิศที่ไม่มีอุปัททวะก็กลับมีอุปัททวะ ในทิศที่ไม่เคยมีลมก็กลับมีลมแรง น้ำก็ดู
เป็นเหมือนน้ำร้อนขึ้นมา ปชาบดีของหม่อมฉันถูกพระทัพพมัลลบุตรทำมิดีมิร้าย”

ทรงประชุมสงฆ์สอบถาม
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรงสอบ
ถามท่านพระทัพพมัลลบุตรว่า “ทัพพะ เธอจำได้ไหมว่าได้ทำตามที่เจ้าวัฑฒะนี้กล่าวหา”
ท่านพระทัพพมัลลบุตรกราบทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคย่อมทรง
ทราบว่า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร”
แม้ครั้งที่ 2 พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านพระทัพพมัลลบุตร ฯลฯ
แม้ครั้งที่ 3 พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระทัพพมัลลบุตรว่า “ทัพพะ เธอ
จำได้ไหมว่าได้ทำตามที่เจ้าวัฑฒะนี้กล่าวหา”
พระทัพพมัลลบุตรก็กราบทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคย่อมทรง
ทราบว่า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร”
“ทัพพะ บัณฑิตย่อมไม่แก้คำกล่าวหาอย่างนี้ ถ้าเธอทำก็จงบอกว่าทำ ถ้าเธอ
ไม่ได้ทำก็จงบอกว่าไม่ได้ทำ”
“พระองค์ผู้เจริญ ตั้งแต่เกิดมา ข้าพระพุทธเจ้าไม่รู้จักการเสพเมถุนธรรมแม้
ในความฝัน ไม่จำต้องกล่าวถึงเมื่อตอนตื่นอยู่”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 7 หน้า :45 }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [5. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น
สงฆ์จงคว่ำบาตร1เจ้าวัฑฒลิจฉวี คือ ห้ามสมโภคกับสงฆ์”

เหตุแห่งการคว่ำบาตร 2
สงฆ์พึงคว่ำบาตรอุบาสกผู้ประกอบด้วยองค์ 8 ประการ คือ
1. ขวนขวายเพื่อไม่ใช่ลาภของภิกษุทั้งหลาย
2. ขวนขวายเพื่อไม่ใช่ประโยชน์ของภิกษุทั้งหลาย
3. ขวนขวายเพื่อความอยู่ไม่ได้แห่งภิกษุทั้งหลาย
4. ด่าบริภาษภิกษุทั้งหลาย
5. ยุยงภิกษุทั้งหลายให้แตกกัน
6. กล่าวติเตียนพระพุทธเจ้า
7. กล่าวติเตียนพระธรรม
8. กล่าวติเตียนพระสงฆ์
ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้คว่ำบาตรอุบาสกผู้ประกอบด้วยองค์ 8 ประการนี้

วิธีคว่ำบาตรและกรรมวาจา
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงคว่ำบาตรอย่างนี้ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้
สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
[266] ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เจ้าวัฑฒลิจฉวีใส่ความท่านพระทัพพ
มัลลบุตร ด้วยสีลวิบัติที่ไม่มีมูล ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วพึงคว่ำบาตรเจ้าวัฑฒลิจฉวี
ห้ามสมโภคกับสงฆ์ นี่เป็นญัตติ

เชิงอรรถ :
1 คว่ำบาตร หมายถึงไม่พึงรับไทยธรรมในเรือนของอุบาสกผู้ถูกคว่ำบาตร และส่งข่าวไปในวัดอื่น ๆ ไม่ให้
ภิกษุทั้งหลายรับภิกษาในเรือนของอุบาสกนั้น (วิ.อ. 3/265/311) คว่ำบาตรด้วยกรรมวาจาสวดประกาศ
ไม่ให้รับไทยธรรมที่อุบาสกนั้นถวาย มิใช่หมายความว่าคว่ำปากบาตรลง (สารตฺถ.ฏีกา 3/265/463)
2 องฺ.อฏฺฐก. (แปล) 23/87/415-416

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 7 หน้า :46 }