เมนู

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [12. สัตตสติก ขันธกะ] 2. ทุติยภาณวาร
พระเรวตะประกาศระงับอธิกรณ์ด้วยอุพพาหิกวิธี1
[456] ครั้งนั้น สงฆ์ประสงค์จะวินิจฉัยอธิกรณ์นี้ จึงประชุมกัน และเมื่อกำลัง
วินิจฉัยอธิกรณ์นั้นอยู่ มีเสียงเซ็งแซ่เกิดขึ้นไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีใครทราบความหมาย
แห่งถ้อยคำที่กล่าวแล้วได้
ลำดับนั้น ท่านพระเรวตะจึงประกาศให้สงฆ์ทราบว่า

ญัตติกรรมวาจา
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เมื่อพวกเรากำลังวินิจฉัยอธิกรณ์นี้ มีเสียง
เซ็งแซ่เกิดขึ้นไม่มีที่สิ้นสุด และไม่มีใครทราบความหมายแห่งถ้อยคำที่กล่าวแล้วได้
แม้แต่เรื่องเดียว ถ้าสงฆ์พร้อมแล้วพึงระงับอธิกรณ์เรื่องนี้ด้วยอุพพาหิกวิธี
สงฆ์จึงคัดเลือกภิกษุชาวปราจีน 4 รูป คือ ท่านพระสัพพกามี ท่านพระ
สาฬหะ ท่านพระอุชชโสภิตะ และท่านพระวาสภคามิกะ และภิกษุชาวเมืองปาเฐยยะ
อีก 4 รูป คือ ท่านพระเรวตะ ท่านพระสัมภูตสาณวาสี ท่านพระยสกากัณฑกบุตร
และท่านพระสุมนะ
ต่อมา ท่านพระเรวตะประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
ท่านผู้เจริญ เมื่อพวกเรากำลังวินิจฉัยอธิกรณ์นี้อยู่มีเสียงเซ็งแซ่เกิดขึ้นไม่มีที่สิ้นสุด
และไม่มีใครทราบความหมายแห่งถ้อยคำที่กล่าวแล้วนั้น ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว พึง
แต่งตั้งภิกษุชาวปราจีน 4 รูป ภิกษุชาวเมืองปาเฐยยะอีก 4 รูป เพื่อระงับอธิกรณ์นี้
ด้วยอุพพาหิกวิธี นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เมื่อพวกเรากำลังวินิจฉัยอธิกรณ์นี้อยู่มีเสียง
เซ็งแซ่เกิดขึ้นไม่มีที่สิ้นสุด และไม่มีใครทราบความหมายแห่งถ้อยคำที่กล่าวแล้วนั้น

เชิงอรรถ :
1 อุพพาหิกวิธี คือ วิธีระงับอธิกรณ์ ในกรณีที่ประชุมสงฆ์มีความไม่สะดวกด้วยเหตุบางอย่าง สงฆ์จึงเลือก
ภิกษุบางรูปในที่ประชุมนั้น ตั้งเป็นคณะทำงานแล้วมอบเรื่องให้นำไปวินิจฉัย (วิ.อ. 3/231/299)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 7 หน้า :412 }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [12. สัตตสติก ขันธกะ] 2. ทุติยภาณวาร
สงฆ์แต่งตั้งภิกษุชาวปราจีน 4 รูป ภิกษุชาวเมืองปาเฐยยะอีก 4 รูป เพื่อระงับ
อธิกรณ์นี้ด้วยอุพพาหิกวิธี ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการแต่งตั้งภิกษุชาวปราจีน 4 รูป
ภิกษุชาวเมืองปาเฐยยะอีก 4 รูป เพื่อระงับอธิกรณ์นี้ด้วยอุพพาหิกวิธี ท่านรูปนั้น
พึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
ภิกษุชาวปราจีน 4 รูป ภิกษุชาวเมืองปาเฐยยะอีก 4 รูป สงฆ์แต่งตั้งเพื่อ
ระงับอธิกรณ์ด้วยอุพพาหิกวิธี สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือเอาความ
นิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้

เรื่องพระอชิตะ
สมัยนั้น ภิกษุอชิตะ มีพรรษา 10 เป็นผู้ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่สงฆ์ ต่อมา
สงฆ์แต่งตั้งท่านพระอชิตะให้เป็นผู้ปูอาสนะเพื่อภิกษุผู้เถระทั้งหลาย
ภิกษุผู้เถระทั้งหลายคิดว่า “พวกเราจะระงับอธิกรณ์นี้ที่ไหนเล่า” ลำดับนั้น
ภิกษุผู้เถระทั้งหลายได้ปรึกษากันต่อไปดังนี้ว่า “วาลิการามเป็นที่น่ารื่นรมย์ เงียบสงบ
ไม่อึกทึก พวกเราน่าจะระงับอธิกรณ์นี้ที่วาลิการาม”
[457] ครั้งนั้น ภิกษุผู้เถระทั้งหลาย ประสงค์จะวินิจฉัยอธิกรณ์นั้นพากันเดิน
ทางไปวาลิการาม
ลำดับนั้น ท่านพระเรวตะประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจาว่า

ญัตติกรรมวาจา
“ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าสงฆ์พร้อมแล้ว ข้าพเจ้าพึงถามพระวินัย
กับท่านพระสัพพกามี”
ท่านพระสัพพกามีจึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจาว่า

ญัตติกรรมวาจา
“ท่านทั้งหลาย ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว ข้าพเจ้าอันท่าน
พระเรวตะถามพระวินัย จะได้ตอบต่อไป”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 7 หน้า :413 }