เมนู

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [12. สัตตสติก ขันธกะ] 1. ปฐมภาณวาร
ภิกษุผู้เถระทั้งหลายพากันเดินทางไปเมืองสังกัสสะ ถามว่า “ท่านพระเรวตะพัก
อยู่ที่ไหน”
พวกเขาตอบว่า “ท่านพระเรวตะเดินทางไปเมืองกัณณกุชชะ”
ต่อมา ท่านพระเรวตะเดินทางจากเมืองกัณณกุชชะไปเมืองอุทุมพระ
ภิกษุผู้เถระทั้งหลายพากันเดินทางไปเมืองกัณณกุชชะ ถามว่า “พระเรวตะพัก
อยู่ที่ไหน”
พวกเขาตอบว่า “ท่านพระเรวตะเดินทางไปเมืองอุทุมพระ”
ต่อมา ท่านพระเรวตะเดินทางจากเมืองอุทุมพระไปเมืองอัคคฬปุระ
ภิกษุผู้เถระทั้งหลายพากันเดินทางไปเมืองอุทุมพระ ถามว่า “ท่านพระเรวตะ
พักอยู่ที่ไหน”
พวกเขาตอบว่า “ท่านพระเรวตะเดินทางไปเมืองอัคคฬปุระ”
ต่อมา ท่านพระเรวตะเดินทางจากเมืองอัคคฬปุระไปสู่สหชาตินคร1
ภิกษุผู้เถระทั้งหลายพากันเดินทางไปเมืองอัคคฬปุระ ถามว่า “ท่านพระเรวตะ
พักอยู่ที่ไหน”
พวกเขาตอบว่า “ท่านพระเรวตะเดินทางไปสหชาตินคร”
ภิกษุผู้เถระทั้งหลายเดินตามไปพบท่านพระเรวตะที่สหชาตินคร

คำถาม-คำตอบเกี่ยวกับวัตถุ 10 ประการ
[452] ครั้งนั้น ท่านพระสัมภูตสาณวาสี บอกท่านพระยสกากัณฑกบุตรว่า
“ท่าน ท่านพระเรวตะรูปนี้ เป็นพหูสูต เชี่ยวชาญปริยัติ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรง
มาติกา เป็นบัณฑิต เฉลียวฉลาด มีปัญญา มีความละอาย มีความระมัดระวัง ใฝ่
การศึกษา ถ้าพวกเราจะถามปัญหา ท่านสามารถจะแก้ปัญหาข้อเดียวได้ตลอดทั้งคืน
แต่เวลานี้ท่านพระเรวตะจะเชิญภิกษุอันเตวาสิกให้สวดสรภัญญะ เมื่อภิกษุรูปนั้นสวด
สรภัญญะจบ ท่านควรเข้าไปหาท่านพระเรวตะถามวัตถุ 10 ประการเหล่านี้”
ท่านพระยสกากัณฑกบุตรรับคำท่านพระสัมภูตสาณวาสีแล้ว

เชิงอรรถ :
1 สหชาตินคร เป็นเมืองเล็ก ๆ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่(น้ำคง) เป็นนิคมหนึ่งแห่งแคว้นเจตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 7 หน้า :403 }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [12. สัตตสติก ขันธกะ] 1. ปฐมภาณวาร
ครั้งนั้น ท่านพระเรวตะเชิญภิกษุอันเตวาสิกให้สวดสรภัญญะ เมื่อภิกษุรูปนั้น
สวดสรภัญญะจบ ท่านพระยสกากัณฑกบุตรจึงเข้าไปหาท่านพระเรวตะ ครั้นแล้ว
อภิวาท นั่ง ณ ที่สมควร ได้ถามท่านพระเรวตะดังนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ สิงคิโลณกัปปะ
ควรหรือ”
ท่านพระเรวตะย้อนถามว่า “ท่าน สิงคิโลณกัปปะนั้นคืออะไร”
ท่านพระยสกากัณฑกบุตรตอบว่า “ท่านผู้เจริญ การเก็บเกลือไว้ในเขนงด้วย
ตั้งใจว่า ‘จะฉันกับอาหารรสไม่เค็ม’ ควรหรือ”
ท่านพระเรวตะตอบว่า “ท่าน ไม่ควร”
ท่านพระยสกากัณฑกบุตรถามว่า “ท่านผู้เจริญ ทวังคุลกัปปะควรหรือ”
ท่านพระเรวตะย้อนถามว่า “ท่าน ทวังคุลกัปปะนั้นคืออะไร”
ท่านพระยสกากัณฑกบุตรตอบว่า “ท่านผู้เจริญ การฉันโภชนะในเวลาวิกาล
เมื่อเงา(ของดวงอาทิตย์)เลย(เวลาเที่ยง)ไป 2 องคุลี ควรหรือ”
ท่านพระเรวตะตอบว่า “ท่าน ไม่ควร”
ท่านพระยสกากัณฑกบุตรถามว่า “ท่านผู้เจริญ คามันตรกัปปะควรหรือ”
ท่านพระเรวตะย้อนถามว่า “ท่าน คามันตรกัปปะนั้นคืออะไร”
ท่านพระยสกากัณฑกบุตรตอบว่า “ท่านผู้เจริญ ภิกษุฉันเสร็จแล้ว ห้าม
ภัตตาหารแล้วคิดว่า ‘จะเข้าไปละแวกหมู่บ้านในบัดนี้’ แล้วฉันโภชนะที่ไม่เป็นเดน
ควรหรือ”
ท่านพระเรวตะตอบว่า “ท่าน ไม่ควร”
ท่านพระยสกากัณฑกบุตรถามว่า “ท่านผู้เจริญ อาวาสกัปปะควรหรือ”
ท่านพระเรวตะย้อนถามว่า “ท่าน อาวาสกัปปะนั้นคืออะไร”
ท่านพระยสกากัณฑกบุตรตอบว่า “ท่านผู้เจริญ อาวาสหลายแห่งที่มีสีมาเสมอกัน
จะแยกกันทำอุโบสถ ควรหรือ”
ท่านพระเรวตะตอบว่า “ท่าน ไม่ควร”
ท่านพระยสกากัณฑกบุตรถามว่า “ท่านผู้เจริญ อนุมติกัปปะควรหรือ”
ท่านพระเรวตะย้อนถามว่า “ท่าน อนุมติกัปปะคืออะไร”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 7 หน้า :404 }