เมนู

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [9. ปาติโมกขัฎฐปน ขันธกะ] 9. โจทเกนอุปัฎฐาเปตัพพธัมมะ
คุณสมบัติข้อนี้เรามีหรือไม่มีหนอ” ถ้าภิกษุไม่ใช่ผู้ทรงจำปาติโมกข์
ทั้งสองได้แม่นยำโดยพิสดาร จำแนกถูกต้อง จัดระเบียบถูกต้อง
วินิจฉัยถูกต้องโดยสุตตะโดยอนุพยัญชนะ(ตามข้อ ตามอักษร) ภิกษุ
ผู้โจทก์นั้นย่อมจะถูกตอบโต้ว่า “เชิญท่านศึกษาพระวินัยให้ชำนาญ
เสียก่อนเถิด” ภิกษุผู้โจทก์นั้นย่อมจะถูกตอบโต้อย่างนี้
อุบาลี ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาคุณสมบัติภายในตน 5
อย่างนี้ จึงโจทผู้อื่น

9. โจทเกนอุปัฏฐาเปตัพพธัมมะ
ว่าด้วยคุณสมบัติที่ผู้โจทก์พึงตั้งไว้ในตน
[400] ท่านพระอุบาลีทูลถามว่า “ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงตั้ง
คุณสมบัติเท่าไรไว้ในตน พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อุบาลี ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงตั้ง
คุณสมบัติ 5 อย่างไว้ในตน คือ
1. เราจะกล่าวโดยกาลที่ควร จะไม่กล่าวโดยกาลไม่ควร
2. เราจะกล่าวคำจริง จะไม่กล่าวคำเท็จ
3. เราจะกล่าวคำสุภาพ จะไม่กล่าวคำหยาบ
4. เราจะกล่าวคำมีประโยชน์ จะไม่กล่าวคำไร้ประโยชน์
5. เราจะกล่าวด้วยเมตตาจิต จะไม่มุ่งร้าย
อุบาลี ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงตั้งคุณสมบัติ 5 อย่างนี้ไว้ในตน
จึงโจทผู้อื่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 7 หน้า :304 }